เนื้อหาวันที่ : 2008-03-07 14:31:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1654 views

สหภาพแรงงาน ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ปักหลักชุมนุมขอเจรจานายจ้าง

สมาชิกสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ประมาณ 60 คนได้เดินทางมาชุมนุมกันบริเวณข้างป้ายรถเมล์ หน้าอาคารบางนาทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด ก.ม.6.5 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างสหภาพฯ กับนายจ้าง

.

วันที่ 6 มี.ค. 2551  เวลา 18.00น. สมาชิกสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส ประมาณ 60 คนได้เดินทางมาชุมนุมกันบริเวณข้างป้ายรถเมล์ หน้าอาคารบางนาทาวเวอร์ ถนนบางนา-ตราด ก.ม.6.5 ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เพื่อเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างสหภาพฯ กับนายจ้าง คือ บ.ไทยอินดัสเตรียลแก๊ส จำกัด (มหาชน) (ทีไอจี) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ ชั้น 15 ของอาคารบางนาทาวเวอร์ ในกรณีที่มีการเลิกจ้างพนักงานเหมาช่วงจำนวน 9 คน

.

มีการร้องเพลงระหว่างการชุมนุม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.อ.บางพลี ประมาณ 7 นาย คอยดูแลความเรียบร้อยและการจราจรอยู่ในบริเวณดังกล่าว ต่อมา เวลาประมาณ 18.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอความร่วมมือให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายที่ชุมนุมถัดไปทางด้านซ้ายของทางออกอาคาร โดยให้เหตุผลว่า กีดขวางทางเท้า อย่างไรก็ตาม ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพฯ ได้ต่อรองขออยู่ที่บริเวณเดิม โดยแบ่งที่สำหรับทางเดินเท้าไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาต ผู้ชุมนุมจึงช่วยกันย้ายป้ายและจัดที่นั่งใหม่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กกั้นทางเดินมาตั้งไว้ ล่าสุด เวลาประมาณ 22.00น. ผู้ชุมนุมยังรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณดังกล่าว 

.

ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพฯ เล่าว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 51 นายจ้างได้เรียกลูกจ้าง 19 คน ไปพบและบอกให้เปลี่ยนสัญญาจ้างไปเป็นสัญญาจ้างเหมากับบริษัทเอสสตรีมคอเปอร์เรชั่น ถ้าไม่เปลี่ยนจะถูกเลิกจ้าง ลูกจ้าง 19 คนซึ่งสมัครเป็นลูกจ้างของทีไอจี และเข้าทดลองงานตั้งแต่ต้นปี 49 แต่เมื่อผ่านทดลองงานแล้ว กลับไม่ได้รับบรรจุเป็นพนักงานประจำ ต้องต่อทดลองงานออกไปอีกจนครบปี และเปลี่ยนโอนถ่าย โดยถูกให้เซ็นสัญญาเข้าเป็นพนักงานเหมาช่วงของบริษัทอเดคโก้ คราวนี้ จะเซ็นรับเหมาอีกเจ้าหนึ่งโดยอ้างว่า รับเหมาเก่าหมดสัญญา

.

.

อย่างไรก็ตาม มีพนักงาน 9 คนซึ่งไม่ยอมเซ็นสัญญาใหม่ ต่อมาจึงถูกเลิกจ้างเมื่อวันที 1 มี.ค.ที่ผ่านมาทั้งนี้ เดิมใน 19 คนเป็นสมาชิกสหภาพ 15 คน ต่อมาพอถูกกดดันมาก ๆ เข้า ก็ถอนเหลือ 12 คนจนวันสุดท้ายเหลือ 9 คนที่ยืนยันว่าเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม 6 คนยังไม่ได้ลาออก จึงยังมีชื่อเป็นสมาชิกอยู่

.

 ฉัตรชัย เล่าว่า เมื่อวาน (5 มี.ค.) มีการนัดพบ โดยทั้ง 9 คน ได้ตั้งตัวแทน 2 คนและมีเขาซึ่งเป็นตัวแทนของสหภาพ แต่นายจ้างบอกว่า ต้องการคุยกับ 9 คนเท่านั้น และบอกด้วยว่าไม่มีการเจรจา แต่มีข้อเสนออย่างเดียวเท่านั้น คือให้กลับเข้ามาทำงานโดยเปลี่ยนสัญญาจ้างไปซะ และพยายามกันสหภาพออกจากคนเหล่านี้ เพราะเห็นว่าพนักงานเหมาจ้างไม่มีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพ

.
ฉัตรชัย เล่าว่า ที่ผ่านมา เคยยื่นขอแก้ไขข้อบังคับของสหภาพ เพื่อให้พนักงานจ้างเหมาช่วงมีสิทธิเป็นสมาชิกสหภาพได้ แต่ผ่านไป 165 วัน จึงได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่รัฐให้ไปประชุมใหม่แล้วแก้ไขข้อบังคับ ซึ่งไม่แน่ใจว่า ต้องรออีก 165 วัน หรือรออีกเป็นปี และก็ไม่รู้ว่าจะผ่านรึเปล่า ที่ผ่านมา เราพยายามผลักดันว่า เขามีสิทธิเป็นสมาชิก นี่เป็นการขัดขวางโดยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับบริษัท แต่เราก็ยังยืนยันว่าเขาเป็นได้ และเราก็จะช่วยเขา เราพยายามแก้ไขข้อบังคับ แต่เจ้าหน้าที่รัฐขัดขวางเรา ตอนนี้ความสูญเสียเกิดขึ้นแล้ว
.

"ตามสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เขาควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะสมาคมกับใครก็ได้ ทำไมจะต้องกีดกัน แม้แต่นายจ้างยังมีสิทธิจะรับใครก็ได้ ทำไมเขาจะต้องถูกจำกัดสิทธิ แม้แต่มาตรา 5 (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) ก็เขียนว่า ไม่ว่าจะเหมาช่วงไปกี่ช่วงก็ตาม แต่นายจ้างหลักถือว่าเป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วย แสดงว่า คนเหล่านี้เขามีสิทธิเป็นลูกจ้างของที่นี่ด้วย แต่ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐบอกว่า เป็นไม่ได้"

.

.

 ฉัตรชัย บอกว่า ที่ทีไอจี คนที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว อายุงานนานที่สุด คือ 19 ปี "ถึงบอกว่ามันไม่ใช่งานชั่วคราว 19 ปีไปเรียกว่างานชั่วคราวได้อย่างไร ไม่บรรจุให้เขาจะให้เขาทำไปถึงไหน"

.

เลขาธิการสหภาพฯ แสดงความเห็นว่า พนักงานเหมาช่วงก็มีความจำเป็น เขาไม่ได้ต่อต้าน แต่ไม่เห็นด้วยที่คนงานเหมาช่วงไม่มีความมั่นคงในชีวิตการทำงาน ที่ยุโรปก็ใช้แรงงานเหมาช่วง แต่เป็นที่ยอมรับเพราะค่าจ้าง สวสัดิการ การปฎิบัติกับลูกจ้างใกล้เคียงกับพนักงานประจำ แต่ประเทศไทยไม่ใช่ เหมือน 9 คนนี้ วันหนึ่งไม่พอใจบอกเลิกจ้าง หรือเปลี่ยนสัญญา แล้ววันหนึ่งไม่ต่อสัญญา ลอยแพ ทั้งที่ทำงานเหมือนกัน พนักงานประจำทำความผิด มีการสอบสวนลงโทษทางวินัย แต่พนักงานเหมาช่วงถูกส่งกลับต้นสังกัด ก็ไม่มีที่ไป ถูกเลิกจ้าง คนที่จะช่วยเหลือคนงานเหล่านี้ได้คือสหภาพ ถ้านิ่งนอนใจ คนเหล่านี้ก็จะถูกเอาเปรียบ

.

สำหรับข้อเรียกร้องของสหภาพ ฉัตรชัยบอกว่า คือการให้รับทั้ง 9 คนเป็นลูกจ้างประจำ เพราะเขามาสมัครงานกับทีไอจี ทดลองงานกับทีไอจี จึงควรจะบรรจุให้เขา "นอนกันที่นี่ ชุมนุมกันที่นี่ จนกว่าจะพูดคุยตกลงกัน เราต้องการเจรจาและหาทางออกร่วมกัน แต่นายจ้างปฏิเสธ ถ้ากันสหภาพออกไป แรงงานเหล่านี้ก็ถูกเอาเปรียบต่อไปส่วนการฟ้องศาลแรงงานนั้น เลขาธิการสหภาพฯ บอกว่า จะเป็นทางสุดท้ายที่จะใช้ เนื่องจากคิดว่าพี่น้องสหภาพช่วยเหลือกัน น่าจะได้ผลมากกว่าการรอกฎหมายอย่างเดียว เพราะหากฟ้องศาลคงต้องรออีก 4 ปี ถึงตอนนั้นก็ไม่รู้ว่า 9 คนนี้ละครอบครัวของพวกเขาจะเป็นอย่างไร

.

ด้าน สุรชัย สิงห์ปัสสา 1 ใน 9 พนักงานเหมาช่วงที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกส่งแก๊ส ตั้งแต่เมื่อครั้งทดลองงานจนถูกเลิกจ้าง เล่าว่า เมื่อปี 49 ได้เข้ามาสมัครเป็นพนักงานที่ทีไอจี มีสัญญาทดลองงาน 6 เดือน หลังจากนั้น จนถึง 26 ม.ค. 2550 บริษัทก็เรียกมาที่สำนักงานใหญ่ที่บางนา โดยไม่ได้บอกว่าเรียกมาทำอะไร ไม่มีใครรู้ และแจ้งล่วงหน้าไม่กี่วัน ไม่แน่ใจว่าถึง 3 วันไหม โดยบอกว่าจะบรรจุงานให้เป็นพนักงานประจำ

.

"เขาเรียกทุกคนเข้าห้อง พูดคุยว่าเป็นห่วงว่าไม่มีคนดูแล เพราะเจ้าหน้าที่ของทีไอจีมีน้อย นี่คือข้ออ้างของผู้จัดการจัดส่งในขณะนั้น ว่ามีเจ้าหน้าที่น้อยดูแลไม่ทั่วถึง จึงต้องหาคนที่ดีที่สุดเพื่อจะมาดูแลพวกผม ทำให้เห็นว่าเราจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ หลังจากนั้นก็แนะนำให้รู้จัก บ.อเดคโก้ ซึ่งอ้างว่าเป็นบริษัทจัดหางานที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานกว่าเจ็ดหมื่นคนทั่วโลก มีความเชี่ยวชาญในการจัดการดูแล ...ไม่ใช่ว่าเอาพวกคุณเป็นซับคอนเทค แต่เอาพวกคุณมาดูแลเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน มีการฉายสไลด์กฎระเบียบต่างๆ จากนั้นเอาสัญญามาให้เซ็นทีละคน แบบรีบเร่ง บอกว่าเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะกรอกรายละเอียดให้

.

.

"ปัญหาใหญ่ คือทุกคนไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน หรือสัญญาเลย ไม่มีเวลาอ่านด้วย ฟังดูเผินๆ สวัสดิการเหมือนกับทีไอจี หลังจากนั้นมีอีกฉบับมาให้เซ็นเป็นรายคน คนแรกเซ็นทั้งที่ยังไม่ได้อ่าน คนต่อไปก็อ่านผ่านๆ แล้วก็เซ็น เพราะผู้บริหารระดับสูงบอกว่าทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ว่าคนที่อยู่ก่อนได้อะไร พวกคุณก็จะได้เหมือนกันหมด

.

สุรชัย บอกว่า หลังจากมานั่งอ่าน ถามคนนั้นคนนี้ เลยรู้ว่าโดนหลอกแล้ว มีข้อหนึ่งบอกว่าพนักงานสัญญาว่าจะไม่เรียกร้องสิทธิต่างๆ ตั้งแต่ก่อนและหลัง 1 ก.พ. 50 จากทีไอจี และหลังจากอ่านสัญญากับอเดคโก้ มีหลายข้อที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตการทำงาน เช่น 1 ปีป่วยเกิน 30วันก็ถูกปลดได้ ปฏิบัติงานไม่เหมาะสม ทำงานไม่เป็นที่พึงใจของนายจ้างก็ถูกปลดได้ เขาเล่าว่า ทำงานมาสิบเดือน น่าจะได้บรรจุ นายจ้างก็บอกว่าไม่ต้องห่วง ตอนที่คุยกัน เขาบอกจะให้พวกผมอยู่กับบริษัทนานที่สุด เขาจะมีหนังสือกฎระเบียบต่างๆ มาเปิดไล่ให้ดู เพื่อให้อยู่ได้นาน อยู่กี่ปีได้เท่านี้ๆ บอกว่าจะไม่มีวันตกงาน ถ้าไม่ทำผิดกฎระเบียบอย่างร้ายแรง

.

"พวกเราก็มีหนี้สินมีภาระ พอรู้ว่าจะได้บรรจุก็ดาวน์รถมา เมื่อ 22 ม.ค. พอ 26 ม.ค. เรียกไปเซ็นสัญญา ถ้าไม่เซ็นก็ออกจากงาน ไม่มีเวลาตัดสินใจเลย ถ้าไม่เอาตรงนั้น รถป้ายแดงผมก็หลุด ขนาดอยู่กับอเดคโก้ ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานอันดับหนึ่งของโลก ยังไม่มีความมั่นคงเลย แล้วอยู่ๆ จะเอาผมไปยัดเข้าบริษัทที่เพิ่งตั้งได้ไม่ถึงเดือน และเห็นชัดว่า ผู้จัดการ บ.อเดคโก้ ลาออกไปตั้ง บ.นี้ เพื่อรองรับพวกผม แค่นี้ก็เห็นความไม่จริงใจของพวกเขาแล้ว"

.

ที่มา : ประชาไทดอทคอม