เนื้อหาวันที่ : 2006-08-07 10:58:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2672 views

ซีเอ็ดมอบบอร์ด FPGA ให้ผู้ผ่านรอบแรกในโครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม

บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เอเพก อินสตรูเมนต์ จำกัด บริษัท วราไมโครเซอร์กิต จำกัด บริษัท ดีไซน์เกตเวย์ จำกัด และ ม.มหานคร จัดงานแถลงข่าว โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ด้วยไอซี

.

บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท เอเพก อินสตรูเมนต์ จำกัด บริษัท วราไมโครเซอร์กิต จำกัด บริษัท ดีไซน์เกตเวย์ จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จัดงานแถลงข่าว โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ด้วยไอซี FPGA พร้อมมอบบอร์ด FPGA 200000 เกทให้แก่ผู้เข้าแข่งขัน ณ ห้องประชุม C อาคารเนชั่น ทาวเวอร์ บางนา

.

นายไกรวุฒิ โรจน์ประเสริฐสุด บรรณาธิการบริหาร วารสารเซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ด้วยไอซี FPGA หนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายในงาน Thailand Electronics & Industrial Technology 2006 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21-24 กันยายน ที่จะถึงนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

.

วัตถุประสงค์หลักในการจัดแข่งขันครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญอยู่ที่ เราและผู้ร่วมสนับสนุนโครงการทุกท่าน อยากที่จะร่วมกันผลักดันความก้าวหน้าในด้านการเรียนรู้และออกแบบไอซี FPGA ให้มีมากขึ้น หรือก้าวไปสู่การพัฒนามากขึ้นอีกขั้นหนึ่ง โดยในครั้งนี้เราพยายามจัดการแข่งขันเพื่อมุ่งเน้นไปที่การประยุกต์ใช้ FPGA ในขั้นที่สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ นั่นหมายถึงการพัฒนาที่มุ่งเน้นตั้งแต่แนวความคิด การออกแบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

.

 

และที่สำคัญที่สุดคือตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค หรือมีคุณประโยชน์ในการใช้งานจริงได้มากน้อยเพียงใด จุดนี้คือจุดสำคัญที่แตกต่างจากการประกวดออกแบบไอซีที่เคยมีผ่านมา ดังนั้นการประกวดในโครงการนี้ เราจึงไม่มีโจทย์ที่เป็นเงื่อนไขในการกำหนดกรอบเพื่อการออกแบบ การแข่งขันครั้งนี้ต้องใช้ความรอบรู้ และความตั้งใจที่มุ่งหวังจะให้ผลงานของตนสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขายได้ในเชิงพาณิชย์ เพราะการแข่งขันแบบนี้คือเรื่องจริงในแวดวงอิเล็กทรอนิกส์ เราอยากให้นักวิจัยและพัฒนาคนไทย ก้าวไปสู่การพัฒนาเพื่อการแข่งขันในสภาวะความเป็นจริงในปัจจุบันในที่สุด

.

FPGA นั้นถือได้ว่าเป็นไอซีที่ช่วยทำให้เราสร้างสรรค์โครงงานต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น ละทำให้การเรียนรู้เทคโนโลยีทางด้านดิจิตอลเปลี่ยนโฉมไปจากเดิมมาก ถ้านับย้อนไป ตั้งแต่ทางวารสาร เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ได้เริ่มเผยแพร่ความรู้ทางด้าน FPGA สู่คนไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา จนทำให้วงการ FPGA ในขณะนี้ถือได้ว่า เป็นที่รู้จัก และมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ แทบทุกแห่งแล้ว ตลอดจนมีผู้พัฒนาเครื่องมือในการพัฒนาเพื่อการเรียนรู้ ออกมาร่วมด้วย จึงทำให้การเรียนรู้ด้าน FPGA ไม่ใช่เรื่องยากในปัจจุบัน เราจึงคิดว่าคนไทยน่าจะพร้อมแล้ว ที่จะก้าวไปอีกขั้น ดั่งเช่นหลายประเทศที่สามารถสร้างมูลค่าจาก FPGA จนกลายเป็นธุรกิจระดับ SME ไปจนถึงระดับโลกได้สำเร็จแล้ว

.

อาจารย์ธีรยศ เวียงทอง ในนามตัวแทนของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร กล่าวว่า ปีนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติด้าน FPGA หรือ International Conference on Field-Programmable Technology (FTP20006) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2549 ที่โรงแรมฟอร์จูน

.

การประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับฟังแนวคิด ประสบการณ์ จากนักพัฒนาด้าน FPGA ระดับโลก ในแง่มุมต่างๆ อาทิ การออกแบบ เทคโนโลยี สถาปัตยกรรม เทคนิคการใช้งาน ล่าสุดมีบทความส่งเข้ามาแล้วกว่า 150 เรื่อง ซึ่งทุกเรื่องเป็นของใหม่ ดังนั้น การมีโอกาสเข้าร่วมงานนี้จะทำให้ได้พบกับความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนางานด้านนี้ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาจากบริษัท Xilinx ในวันที่ 11-12 ธันวาคม ซึ่งผู้สนใจด้านFPGA สามารถเข้าฟังได้ฟรี ส่วนรายละเอียดงานประชุมสามารถดูที่ www.icfpt2006.org

.

สำหรับผู้ชนะจากการประกวด FPGA ครั้งนี้ จะได้รับบัตรเข้าร่วมประชุม มูลค่า 20,000 บาท จำนวนสองใบ นายธนพร แสงไพฑูรย์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ดีไซน์เกตเวย์ จำกัด เปิดเผยว่า ดีไซน์เกตเวย์ ให้บริการออกแบบตามความต้องการ ซึ่งมักจะมีการใช้ FPGA ในงานต่างๆ เสมอ จึงมีประสบการณ์ในการออกแบบ FPGA มากพอสมควร รวมถึงยังมีผลงานที่นำไปใช้ในต่างประเทศมากมาย และยังฝากถึงผู้เข้าแข่งขันทุกท่าน ให้ศึกษา FPGA อย่างจริงจัง หากต้องการก้าวสู่อาชีพนักวิจัยและพัฒนา เพราะโอกาสสำหรับงานทางด้านนี้ยังมีอีกมาก อีกทั้งวิศวกรไทยก็เก่งไม่แพ้ใคร รวมถึงการช่วยกันบอกต่อเพื่อนๆ ที่มีความสนใจเรื่อง FPGA เข้ามาศึกษากันมากๆ เพื่อให้วงการนี้มีคนเก่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

.

นายวีรกุล จินดาพร บริษัท วราไมโครเซอร์กิต จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนจัดทำแผ่นวงจรพิมพ์ให้กับผู้แข่งขัน กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีสนับสนุนโครงการประกวดครั้งนี้ โดยมอบแผ่น Surface Mount PCB และ Universal PCB ให้ทุกโครงการที่ผ่านรอบแรก รวมถึงทำแผ่นวงจรพิมพ์ตามแบบให้ด้วย โดยสามารถส่งไฟล์ PCB มาที่อีเมล์ FPGApcb@wara.com โดยใช้เวลา 5 วันทำการ หลังจากตอบตกลงการสั่งทำ

.

นายณรงค์ ทองฉิม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเพก อินสตรูเมนต์ จำกัด ผู้สนับสนุนจัดทำบอร์ด FPGA 200000 เกทให้ผู้แข่งขันที่ผ่านรอบแรก กล่าวว่า สาเหตุที่วงการออกแบบ FPGA ของไทยไปได้ช้า ส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบ PCB ของไทย ซึ่งไม่สามารถทำงานที่ Hi-speed ได้ ทำให้การทำงานที่ความเร็วสูงเกิดอาการรวน ซึ่งในต่างประเทศเขาทำได้

.

อีกเรื่องคือความเข้าใจเกี่ยวกับสายต่อพ่วง เช่น สายแพรของคอมพิวเตอร์ ควรใช้เป็นสายสัญญาณหนึ่งเส้น เป็นกราวด์นหนึ่งเส้นเสมอเพื่อลดการรบกวนข้ามเส้น นอกจากนี้ความยาวสูงสุดของสายที่ยังทำงานได้โดยไม่สะท้อน เป็นเรื่องที่ต้องระวังในการออกแบบด้วย มิเช่นนั้นมันจะไม่เวิร์ก ซึ่งความรู้ต่างๆ เหล่านี้ ทางผู้แข่งขันต้องศึกษาเพื่อให้โครงงานที่ออกแบบไว้ ทำงานได้ตามเป้าหมาย

.

หลังจากผู้แข่งขันได้รับบอร์ดไปเรียบร้อย กำหนดการต่อไปคือ จะต้องส่งคู่มือการใช้งาน ภายในวันที่ 18-20 กันยายน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้คะแนน ส่วนชิ้นงานจริงให้นำมาส่งวันที่ 21 กันยายน เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนใครต้องติดตั้งมากกว่าปกติและต้องใช้เวลามาก สามารถเริ่มมาติดตั้งได้ในวันที่ 20 กันยายน ช่วงบ่ายเป็นต้นไป ส่วนการตัดสินจะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กันยายน 2549 รายละเอียดติดตามได้ที่ www.thailandelectronic.com หรือสอบถามที่คุณชยุต จึงภักดี หรือคุณศิริสาร เบอร์โทร 0-2739-8111 ต่อ 8165, 8153