เนื้อหาวันที่ : 2006-02-18 02:30:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3072 views

การพัฒนาการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อการแข่งขันทางอุตสาหกรรม

พัฒนาโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เตรียมพร้อมในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม

 

 

 

  ศ.ดร.ชูเวช ชาญสง่าเวช                                             องคณบดี คณะการจัดการ มหาวิทยาลัยชินวัตร

หนึ่งในทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม คือ วิศวกร และไม่ใช่แต่เพียงวิศวกรในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการหรือ Industrial Engineer เท่านั้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ล้วนต้องอาศัยวิศวกรเพื่อไปทำงานในด้านวิศวกรรม ที่เกี่ยวข้อง

 .
ผู้ปกครองจำนวนมากยังอยากให้ลูกหลานเรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้จบออกไปเป็นวิศวกรที่หางานทำได้ง่าย  มีรายได้ดี และเจริญก้าวหน้า นักเรียน ม.ปลาย หลายคนก็อยากสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเลือกไว้ในอันดับที่ค่อนข้างสูง
 .
แต่ทว่า การผลิตวิศวกรโดยสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของไทยในปัจจุบันทัดเทียมต่างชาติในภูมิภาคนี้ได้หรือไม่  บัณฑิตที่จบออกมามีคุณภาพแค่ไหน ตรงกับความต้องการของผู้จ้างงานเพียงใด หลักสูตรในปัจจุบันมีพัฒนาการไปมากน้อยเพียงไร เหมาะสมและสอดคล้องกับยุคไฮเทค + โลกาภิ วัฒน์ หรือไม่ แน่ใจได้อย่างไรว่าเมื่อเรียนจบแล้วมีโอกาสทำงานได้ตรงกับสาขาที่เรียนมา คุ้มกับเวลาและเงินทองที่จ่ายไปหรือไม่ (การลงทุนของผู้ปกครอง) จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน เพื่อการผลิตวิศวกรยุคใหม่หรือยัง มหาวิทยาลัยของไทยที่เปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์อยู่ในขณะนี้ ได้รับการยอมรับจากระดับนานาชาติแค่ไหน คำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามเหล่านี้ เราจะหาคำตอบได้จากที่ใด ?
.

วารสาร Industrial ฉบับนี้จึงขอนำเสนอในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เพื่อการแข่งขันทางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและติดตามยิ่งอีกเรื่อง หนึ่ง โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ชูเวช ชาญสง่าเวช รองคณบดี คณะการจัดการ มหาวิทยาลัยชินวัตร หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัยจากกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย และอดีต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาเป็นผู้ไขประเด็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ดังกล่าว ให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการนี้ได้รับทราบ ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ อาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ผู้ผลิตวิศวกร ผู้บริหารสมาคมวิชาชีพวิศวกรรมต่าง ๆ ผู้วางนโยบายการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ ที่ว่าจ้างวิศวกรทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน  ผู้ปกครอง ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ นิสิตนักศึกษาปัจจุบัน ไปจนถึงอาจารย์แนะแนวในโรงเรียน และสาธารณชน

.

A: ทำไมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตบัณฑิตวิศวกรของประเทศไทยให้แตกต่างไปจากเดิม ?

Q: การเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศก็เป็นปัจจัยหนี่งครับ แต่ที่สำคัญคือการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) และการร่วมมือในกลุ่มเศรษฐกิจในย่านเอเชียแปซิฟิก (APEC) ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้บัณฑิตของเราสามารถแข่งขันกับวิศวกรที่มาจากต่างประเทศได้ เราอาจสรุปได้ว่าแรงผลักดัน (Driver) ที่สำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม คือ แรงผลักดันภายนอก ได้แก่ การเปิดเขตการค้าเสรี การพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม สภาพคล่องในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศในกลุ่มประชาคมเอเชียแปซิฟิก การรับรองวิทยฐานะสถานศึกษาในระดับนานาชาติ การจัดอันดับสถานศึกษาในระดับนานาชาติ ดังนั้นสถาบันการศึกษาที่ผลิตวิศวกรจะยึดถือติดกับแนวทางการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์แบบเก่า ๆ คงไม่ได้แล้วครับ

 

 
A: มีสาเหตุมาจากผู้ว่าจ้างวิศวกรด้วยหรือไม่ทั้งภาครัฐและเอกชน ?

Q: มีครับ ซึ่งนับว่าเป็น แรงผลักดันภายใน ที่สำคัญ ได้แก่ ความต้องการทั้งด้านจำนวนและคุณภาพของบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ ของหน่วยงานผู้ใช้บัณฑิตต่าง ๆ ทั้งภาคธุรกิจเอกชน และภาครัฐ ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ในระยะเวลาแค่ไม่กี่ปี โลกนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี การแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมมีความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ลักษณะของวิศวกรที่เป็นที่ต้องการของวงการธุรกิจอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเป็นนานาชาติ ดังนั้นโครงสร้างการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบันจะให้เหมือนกับในอดีตเมื่อสิบปีที่แล้วได้อย่างไร

 
A: ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดำเนินงานในระดับนโยบายการศึกษา เช่น สมศ. นับว่าเป็นอีกปัจจัย หนึ่ง ด้วยหรือไม่ ที่สมควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ?
Q: แน่นอนครับ นโยบายปฏิรูปการศึกษา การรับรองมาตรฐานและการประเมินคุณภาพการศึกษาจาก สมศ. การแข่งขันทางธุรกิจการศึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชน จัดว่าเป็นแรงผลักดันภายในด้วยเหมือนกัน ที่ทำให้ต้องมีปรับโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เสียที
 

A: เราต้องการวิศวกสรุปรไทยรุ่นใหม่ในอนาคตเป็นแบบใด แตกต่างจากแบบเก่ามากหรือไม่ ?

Q: เรื่องของ APEC นั้นผมเข้าใจว่าผู้อ่านหลายท่านคงทราบกันมาบ้างแล้วนะครับ จากความพยายามที่จะผลิตวิศวกรในย่านเอเชียแปซิฟิก ให้สามารถทำงานข้ามประเทศในย่านนี้ได้ ซึ่งเรียกว่า APEC Engineer นั้นหมายความว่า เราต้องผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วในย่านเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย

 
วิศวกรรุ่นใหม่ที่ผลิตได้จะต้องมีความสามารถทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยจริง ๆ เพราะเวลานี้เราอยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน ยุคการค้าเสรี การทำงานก็เสรี วิศวกรต่างชาติสามารถเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยได้โดยสะดวกครับ
 
ลักษณะของบัณฑิตวิศวกรที่พึงประสงค์ในยุคนี้คือ นอกจากจะเป็นผู้มีความรู้จริงด้านเทคโนโลยีในสาขาที่เรียนมาแล้ว ก็ควรมีทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นด้วย เช่น ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์ทำงานจริง ทักษะในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น เพราะวิศวกรสมัยนี้จะต้องเป็นนักพัฒนาต่อยอด สามารถประดิษฐ์คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานและวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทั้งหลายได้อย่างเต็มภาคภูมิ
 
หากการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบันยังคงเป็นการสอนที่มุ่งเน้นด้านการบรรยาย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมุมมองของลักษณะเนื้อหารายวิชา ที่มีรายละเอียดเป็นทฤษฏีมาก ก็ไม่น่าจะตรงกับความต้องการของผู้ว่าจ้างวิศวกร เพราะเขาไม่ต้องการบัณฑิตที่รู้แต่ทฤษฏีเท่านั้น หรือรู้ลึกด้านเทคโนโลยีมาก ๆ แต่ทำงานให้เขาไม่ได้ หรือเก่งทางปฏิบัติมากแต่พร่องทางทฤษฏีหรือหลักการ
A: ปัจจุบันมีการผลิตวิศวกรในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ กี่แห่ง และเน้นอะไรบ้าง ?
Q: ปัจจุบันมีสถาบันที่ผลิตวิศวกรได้ประมาณ 44 สถาบัน เป็นของรัฐอยู่ประมาณ 27 สถาบัน ถ้ามองในแง่การจัดการเรียนการสอน เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เน้นทางด้านปัญหาเฉพาะทางอุตสาหกรรม (Problem Orientation) กับกลุ่มที่เน้นทางวิชาการเป็นหลัก (Academic Orientation) แต่ก็มีบางสถาบันที่มีรูปแบบผสมผสานกันทั้งสองแบบ หลักสูตรและการเรียนการสอนของแต่ละสถาบัน จะอิงอยู่กับข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และสภาวิศวกรเป็นหลัก ซึ่งสภาวิศวกรเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมของไทย และมีวัตถุประสงค์ หนึ่ง ที่จะส่งเสริมการศึกษาวิศวกรรมสาสตร์ และการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม แต่จากการรวบรวมข้อคิดเห็นในการทำวิจัยบทบาทที่ผ่านมาของสภาวิศวกรดูจะไปเน้นการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการผลิตวิศวกรของแต่ละสถาบัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์จำนวนไม่น้อย กำลังมองว่าไม่น่าจะตรงกับวัตถุประสงค์การจัดตั้งสภาวิศวกรเท่าไรนักครับ
 

ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้อาจไม่รู้จักสภาวิศวกร ผมขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ครับ สภาวิศวกรเป็นองค์กรที่รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรในสาขาวิชาที่เป็นวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม แต่การรับรองที่ผ่านมาปรากฏว่ามีการเน้นลงไปถึงเนื้อหาของหลักสูตร คือ Content Based มากกว่าคุณสมบัติของบัณฑิตจะพึงมีหรือเรียกว่า Output Based หรืออีกนัย หนึ่ง คือ การตรวจประเมินเพื่อรับรองหลักสูตรเป็น Pre-audit ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะทำการตรวจประเมินเพื่อรับรองหลักสูตรเป็นแบบ Post-audit โดยไม่มีการระบุในรายละเอียดของเนื้อหาในหลักสูตร เพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรมีความหลากหลายมากขึ้น 

 
หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า ก.ว. ที่วิศวกรในบางสาขาต้องมีใบ ก.ว. ไม่งั้นจะทำงานไม่ได้ เช่น วิศวกรโยธา เป็นต้น  ก.ว. ย่อมาจาก ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสาขาวิศวกรรมควบคุม ซึ่งปัจจุบันมี 5 สาขา คือ สาขาวิศวกรรมโยธา เครื่องกล ไฟฟ้า อุตสาหการ และเหมืองแร่
 
ผลการวิจัยของเราชี้ออกมาค่อนข้างชัดว่า หากสภาวิศวกรยังคงยึดถือตามทิศทางเดิมแล้วละก็ มีแนวโน้มเป็นไปได้มากว่าหลักสูตรต่าง ๆ จะไม่สามารถรอการเปลี่ยนแปลงจากสภา ฯ ได้ และจะมีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่ฉีกแนวไปจากเดิมมาก เพื่อสนองความต้องการของตลาดที่เป็นแบบสหวิทยาการ ผู้ที่อยู่ในวงการวิศวกรรมศาสตร์จึงน่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้สภาวิศวกรรีบปรับตัวเองให้ทันกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป
 

A: สถานภาพปัจจุบันของการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร ?

Q: ผมอยากให้เห็นภาพแรกนี้ให้ชัดเจนก่อนว่า ลักษณะโครงสร้างการศึกษาโดยภาพรวมของประเทศไทยนั้น ต้องดำเนินการไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2542 โดย สกอ. เมื่อปี  2546 พอสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 27 แห่งมีการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรด้านวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต โดยมีจำนวนหลักสูตรทั้งหมด 147 หลักสูตร ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น น่าเสียดายที่ไม่มีการรวบรวมข้อมูลไว้ ทราบเพียงแต่ว่า สาขาที่ ม. เอกชนนิยมเปิดสอนมากที่สุด คือ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการเปิดสอนในมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งหมด 9 แห่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าสาขานี้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสาขาวิศวกรรมควบคุมของสภาวิศวกร
 
ปัจจุบัน สภาวิศวกรเป็นผู้ตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานการผลิตวิศวกรของแต่ละสถาบันการศึกษา หลักสูตรและการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันจะอิงอยู่กับข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและสภาวิศวกรเป็นหลัก การควบคุมนี้ในทางปฏิบัติมีการลงไปถึงรายละเอียด เช่นเครื่องมือการทดลองในห้องปฏิบัติการที่สถาบันการศึกษาต้องมี ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันสถาบันต่าง ๆ สามารถใช้แนวทางการเรียนการสอนแบบอื่น ๆ ที่แตกต่างจากเดิมได้มากมาย ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า แต่ละสถาบันจำเป็นจะต้องสอนหนังสือไปในแนวทางเดียวกันหรือ
 

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. เป็นตัวกำหนดกรอบของโครงสร้างการศึกษาโดยรวม  จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาตามมา เช่น การกำหนดจำนวนหน่วยกิตในหมวดการศึกษาทั่วไป และวิชาเลือกเสรีเพิ่มขึ้นจากเดิม ทำให้การศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยจำนวนหน่วยกิตที่มากกว่าการเรียนในด้านอื่น ๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์

 
นอกจากนั้นในแต่ละสถาบันการศึกษายังมีการแบ่งส่วนการบริหารภายในเป็นระดับภาควิชา ทำให้ขาดการเชื่อมโยงหรือประสานงานร่วมกัน อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนหลักสูตรร่วมกันได้ นอกจากนั้นกระบวนการเรียนการสอนของภายในสถาบันการศึกษา ยังคงยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ที่เคยปฏิบัติมา ทำให้ยากต่อการปรับเปลี่ยนครับ
 
A: ปัจจุบัน หลักสูตรและแนวทางการเรียนการสอนของแต่ละสถาบันสามารถตอบสนองต่อความต้องการวิศวกรทีแท้จริงของภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ อย่างไร ?
Q: ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่ใช้อยู่มีความตายตัวมากกว่าความยืดหยุ่น แต่ว่าในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้มีองค์การมหาชน คือ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบและประเมินคุณภาพของบัณฑิตที่จบออกมาว่า เป็นตามความต้องการของตลาดแรงงานหรือไม่ ก็ยิ่งจะทำให้สถาบันการศึกษาทางวิศวกรรมศาสตร์จะต้องมีความใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยจะต้องผลิตวิศวกรที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเหล่านั้น
 

นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องไปศึกษาความต้องการและแผนพัฒนาของประเทศด้วย เพราะบางสาขาต้องการมากน้อยไม่เท่ากัน สรุปว่าจะเพิกเฉยไม่ได้แล้ว ทั้งสองฝ่ายคือคณะวิศวกรรมศาสตร์และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องจับมือกันและเดินไปด้วยกัน จะได้เป็นที่พึงพอใจกันทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายผลิตบัณฑิตวิศวกรและฝ่ายผู้จ้างงานวิศวกร

 

A: การผลิตวิศวกรรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว เพื่อให้เป็นส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เป็นเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จะมีแนวทางอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้จริง ?

Q: อย่างที่ผมได้เรียนให้ทราบตอนต้นแล้วว่า โครงสร้างทางการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์นั้น มีผลมาจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ สภาวิศวกร สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา และสถาบันการศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์นั้น ๆ สังกัดอยู่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวิศวกร ปัญหาจึงอยู่ที่กลไกการประสานงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ เพื่อให้สามารถผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว  ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการทำวิจัยเชิงนโยบายที่เรียกว่า Policy Research เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวิศวกร เพื่อให้ได้วิศวกรที่มีคุณภาพทัดเทียมกับอารยประเทศ ได้มาตรฐานสากล สามารถทำงานข้ามประเทศ หรือ ไม่ให้วิศวกรจากต่างประเทศแย่งงานไปได้
 

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จึงได้ให้ทุนโครงการวิจัยเชิงนโยบาย เรื่อง การพัฒนาโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม เมื่อปีที่แล้ว 2547 ผมเป็นหัวหน้าโครงการนี้ครับ โดยทำวิจัยร่วมกับอาจารย์อีกสองคน ได้แก่ ผศ.ประเสริฐ อัครประถมพงศ์ และ อ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระยะเวลาการดำเนินงานวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 ประมาณ 1 ปี

 
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็คือ การจัดทำข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวิศวกร โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ แล้วนำข้อมูลที่สำรวจได้มาวิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวิศวกรได้แก่ สภาวิศวกร สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เป็นต้น
 

อันที่จริงเราก็ได้แบ่งกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือ Stakeholders ออกเป็นทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาจารย์ กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา กลุ่มนโยบายการศึกษา กลุ่มผู้ใช้บัณฑิตหรือผู้จ้างงานวิศวกรรวมถึงสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ กลุ่มสถาบันการศึกษาระดับสูงหมายถึงสถาบันที่เปิดสอนวิศวกรรมศาสตร์หรือสาขาวิชาอื่นในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ที่รับบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ไปเข้าศึกษาต่อ กลุ่มศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ และกลุ่มนิสิตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ในปัจจุบัน

 

A: วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ใช้เป็นอย่างไร เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ และการกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ว่ามานั้นครอบคลุมทั่วถึงแล้วหรือ ?

Q: เราใช้วิธีการสัมภาษณ์และใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพปัจจุบันของการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ จากสถานศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหมดในประเทศไทย เราได้กำหนดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตบัณฑิต อย่างนี้ครับ ส่วนแรก  หมายถึง ผู้ที่อยู่ในกระบวนการผลิตวิศวกรจริง ๆ ได้แก่ โรงเรียนมัธยมหรือโรงเรียนอาชีวศึกษา ที่เป็น ผู้ส่งมอบ นักเรียน มาให้ และสถานศึกษาและอาจารย์ในสถานศึกษานั้น ๆ ที่เป็น ผู้ผลิต ตัวผู้เรียนคือนิสิตนักศึกษาเป็น ผู้รับบริการ และผู้ว่าจ้าง ภาคอุตสาหกรรม และสถานศึกษาระดับสูงที่เปิดสอนปริญญาโท ปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมศาสตร์ เป็น ผู้ใช้ผลิตผล

 
ส่วนที่สอง หมายถึง หน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุน ได้แก่ สกอ., สมศ., สภาวิศวกร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย เกณฑ์มาตรฐาน APEC Engineer และ ABET Accreditation ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย นอกจากนั้นก็มีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเงินทุน ด้านเทคโนโลยี ด้านเครือข่ายความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรม
 

คณะผู้วิจัยของเราได้จัดแบ่งประเภทแบบสอบถามตามกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้ครับ คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน กลุ่มนโยบายและควบคุมคุณภาพการศึกษา เช่น สกอ., สมศ., สมาคมวิชาชีพ เป็นต้น สถานศึกษาที่รับนิสิตศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของไทยและต่างประเทศ หน่วยงานผู้ว่าจ้างงานทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฯ เป็นต้น ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ นิสิตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ สายอาชีวศึกษา กลุ่มอาจารย์แนะแนว กลุ่มผู้บริหารสถาบันการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งหมดก็ 9 กลุ่มครับจะเห็นได้ว่า การกำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแบบนี้จะครอบคลุมทั่วถึงหมดเลยครับ

 
ส่วนคำถามที่ใช้ในแบบสอบถามแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างหรือเหมือนกันในบางส่วนได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสอดคล้องหรือแตกต่างกันในแต่ละมุมมองของแต่ละกลุ่ม
 
เราประมวลข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยใช้เทคนิคแผนภาพความเชื่อมโยงหรือที่เรียกว่า Affinity Diagram หรือ K-J technique เพื่อช่วยในการจัดกลุ่มข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ครับ
 

A: งานวิจัยเชิงนโยบายดังกล่าวมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านั้น ?

Q: ขอเล่าถึงการดำเนินงานในช่วงแรกก่อน เป็นการประมวลข้อมูลเบื้องต้นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จาก สกอ., สมศ. และรายงานการวิจัยที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งนับว่ามีประโยชน์มากเลยครับ เพราะช่วยทำให้เราออกแบบจัดทำแบบสอบถามได้ตรงความต้องการ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัย

 
เราได้พัฒนาเว็บไซต์ขึ้นด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร และให้ดาวน์โหลดแบบสอบถามผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อว่า www.ThaiEngEd.net
 
เมื่อวันที่17 พฤศจิกายน ปลายปีที่แล้ว เราได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการงานวิจัย ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬา ฯ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อรายงานผลการดำเนินงานโครงการวิจัย และขอความร่วมมือในการตอบแบบสอบถาม ในวันนั้นก็ได้มีปาฐกถาพิเศษด้วยเรื่อง ทำไมจึงต้องพัฒนาโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ไทย โดย คุณดิเรก เจริญผล กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัยครับ
 

A: อุปสรรคและปัญหาที่พบในการดำเนินงานวิจัยมีอะไรบ้าง ?

Q: ที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าเราก็ยังไม่ได้พบปัญหาและอุปสรรคนะครับ แต่ในขั้นตอนต่อไปนี้เราคาดว่าอาจจะมีปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ เช่น ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอาจไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ เนื่องจากยังไม่เห็นผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเองมากนัก จึงไม่ได้สนใจจะส่งสารมาถึงเรา ทางคณะผู้วิจัยคงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้นต่อไปครับ เพราะเราต้องการข้อมูลในส่วนนี้มาก อีกเรื่อง หนึ่ง ก็คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์มีอยู่ค่อนข้างมากและหลากหลาย อาจทำให้มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือภายในกลุ่มได้ง่าย ในระหว่างที่มีการประชุมเพื่อจัดลำดับข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติในการปรับเปลี่ยน

 

A: ขอทราบความคืบหน้าล่าสุดของโครงการวิจัย ?

Q: ในวันที่ 17 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมาเราจัดให้มีการประชุมใหญ่ที่ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของงานวิจัย และเพื่อจัดลำดับข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติในการปรับเปลี่ยนให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวิศวกร โดยทีมงานวิจัยของเรานำเสนอข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติให้กับแต่ละกลุ่ม แล้วให้เขาช่วยกันจัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอแนะต่าง ๆ เหล่านั้นร่วมกันด้วยวิธีการตัดสินใจแบบกลุ่มที่เรียกว่า Nominal Group Technique กลุ่มที่เราเชิญมารวมทั้งหมด 7 กลุ่มครับ และในวันนั้นคณะผู้วิจัยก็จะรวบรวมข้อมูลป้อนกลับ เพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อเสนอแนะให้เหมาะสมยิ่งขึ้นและนำไปใช้ได้จริงครับ

 
เราคาดหวังว่า ท้ายที่สุดเราจะได้รายงานฉบับสมบูรณ์ และสรุปข้อเสนอแนะในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ให้แก่องค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตวิศวกร เพื่อให้ได้มาตรฐานสากล ให้เป็นไปตามความต้องการและแผนพัฒนาของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกครับ
 

A: อยากทราบว่า คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศบ้างหรือไม่

Q: แน่นอนครับ เราได้ศึกษาเปรียบเทียบกับสถาบันการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียถึงเทคนิคและลักษณะการเรียนการสอน ที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ด้วยครับ เพื่อให้เราสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม เวลานี้ก็มีสถาบันการศึกษาของไทยหลายแห่ง เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแล้วครับ เช่น การจัดให้มีการอภิปรายกลุ่มย่อย การทำโครงงานแบบบูรณาการ การนำปัญหามาเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ เป็นต้น

 

A: อาจารย์ยังอยากได้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มต่าง ๆ อีกบ้างหรือไม่ ?

Q: ถึงแม้ว่าโครงการวิจัยนี้จะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2548 แต่ผมก็ยังอยากให้ผู้ที่สนใจในเรื่องดังกล่าวร่วมกันตอบแบบสอบถามที่อยู่บนเว็บไซต์ โดยดาวน์โหลดออกมา เมื่อตอบแบบสอบถามเสร็จแล้ว ก็ขอให้ช่วยส่งคืนมาทางโทรสารครับที่เบอร์ 0-2218-6556 หรื 0-2939-2695 จะขอบพระคุณมากครับ

สรุป

ถึงแม้ว่าโครงการวิจัยเชิงนโยบายเรื่อง การพัฒนาโครงสร้างการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันทางอุตสาหกรรม จะเพิ่งเริ่มต้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2547 แทนที่จะได้มีการทำวิจัยมาเมื่อสักห้าหรือสิบปีก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นบัณฑิตวิศวกรยุคใหม่ที่ตรงใจภาคอุตสาหกรรม และมีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มาระยะ หนึ่ง แล้ว

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งหลายที่เพิ่งรับทราบข่าวสารโครงการนี้ จึงน่าที่จะช่วยกันแสดงความคิดเห็นและร่วมตอบแบบสอบถามผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้รายงานฉบับสมบูรณ์จากงานวิจัยนี้มีประโยชน์มากที่สุดและได้ใช้จริงกับประเทศไทย