เนื้อหาวันที่ : 2008-03-04 17:20:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2497 views

การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30: ผลกระทบต่อค่าเงินบาท การส่งออก และเศรษฐกิจไทย

โดยมีผลในวันที่ 3 มีนาคม 2551 ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ได้มีการใช้มาตรการนี้ ต้องถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทในปี 2550 กลับมาเคลื่อนไหวในอัตราที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค และช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อผู้ส่งออกที่ได้รับความเดือนร้อนจากการแข็งค่าของเงินบาทได้

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 สำหรับเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศมาตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2549 เพื่อหยุดยั้งการแข็งค่าที่รวดเร็วของเงินบาทในช่วงปลายปี 2549 ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ในที่สุดมาตรการดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยมีผลในวันที่ 3 มีนาคม 2551 ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ได้มีการใช้มาตรการนี้ ต้องถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนทำให้ค่าเงินบาทในปี 2550 กลับมาเคลื่อนไหวในอัตราที่สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค และช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อผู้ส่งออกที่ได้รับความเดือนร้อนจากการแข็งค่าของเงินบาทได้

.

แต่ในขณะเดียวกันมาตรการดังกล่าวก็ได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์บางประการ โดยเฉพาะการทำให้ตลาดของเงินบาทแยกเป็น 2 ส่วน คือ ตลาดภายในประเทศ (Onshore Baht Market) กับตลาดในต่างประเทศ (Offshore Baht Market) ซึ่งแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอะไรมากนัก แต่ก็สร้างความไม่สบายใจให้กับนักลงทุนพอสมควร

.
การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 นั้น ในระยะสั้นคาดว่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่าในอัตราที่เร็วขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ดังนี้
  • การส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานสูง และมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศน้อย จะประสบกับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะต้องปิดกิจการซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น
  • แรงกดดันที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อจะลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันดิบจากต่างประเทศลดลง
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่จำเป็นต้องปรับตัวลดลงในระยะสั้น เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาก การปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี
  • ตลาดตราสารหนี้จะกลับมาคึกคักขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มีการระดมทุนในตลาดนี้มากขึ้น เป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้

เหตุใด ธปท. จึงต้องใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30

หากยังจำกันได้ มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 สำหรับเงินทุนนำเข้าระยะสั้นจากต่างประเทศถูกประกาศใช้ในเย็นวันที่ 18 ธ.ค. 2549 เนื่องจากค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณ 36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือน พ.ย. มาแตะ 35.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 18 ธ.ค. หรือแข็งขึ้นเกือบร้อยละ 4 ในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว นอกจากนั้นหากเทียบกับการแข็งค่าของเงินสกุลอื่นๆของประเทศในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี 2549 แล้ว เงินบาทของไทยยังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดอีกด้วย โดยที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งขึ้นถึงร้อยละ 16.7 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2548

.
การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงปี 2549 นั้น เกิดจากทั้งปัจจัยพื้นฐานและการเก็งกำไร โดยในส่วนของปัจจัยพื้นฐานนั้นเป็นผลมาจาก
.

1) มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้นักลงทุนหวั่นเกรงว่าสักวันหนึ่งค่าเงินดอลลาร์จะต้องอ่อนตัวลงอย่างรุนแรง จึงเริ่มมีการโยกย้ายเงินมายังภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีผลทำให้ค่าเงินของหลายๆประเทศในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นไม่เฉพาะแต่ค่าเงินบาท เพียงแต่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่สุด

.

2) ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอยู่ในสถานะที่เกินดุล เนื่องจากในช่วงนั้นอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงมาก ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงดังกล่าวยังขยายตัวดี ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวสูง การที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงทำให้ความต้องการซื้อเงินบาทมีมากขึ้น เป็นเหตุทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นดังกล่าว

.

รูปที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของเงินสกุลต่างๆ เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่สิ้นปี 2548 ถึง วันที่ 18 ธ.ค. 2549

..

จากปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นดังกล่าว ทำให้นักเก็งกำไรมองเห็นช่องทางที่จะเข้ามาหาผลตอบแทน เนื่องจากตราบใดที่ไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงก็จะมีน้อย การเก็งกำไรค่าเงินบาทในช่วงดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงต่ำ เป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในอัตราที่เร่งตัวขึ้นมากในช่วงปลายปี 2549

.

การแข็งค่าของเงินบาทที่เร็วกว่าค่าเงินของประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเกรงว่าจะไปบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ใช้แรงงานหรือใช้ทรัพยากรภายในประเทศสูง และมีสัดส่วนวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศน้อย และเนื่องจากการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้อยู่ไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะหยุดยั้งการแข็งค่าของเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบต่อผู้ส่งออกในกลุ่มดังกล่าว

.
วัตถุประสงค์ของมาตรการกันสำรองร้อยละ 30

วัตถุประสงค์ที่ ธปท. เลือกใช้มาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ก็คือ เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรในค่าเงินบาท เนื่องจากมาตรการนี้เปรียบเสมือนการเก็บภาษีจากเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ (หรือที่รู้จักกันในชื่อ Tobin’s Tax) กล่าวคือ เงินทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่นำเข้ามาจะสามารถแลกเป็นเงินบาทได้เพียง 0.7 ดอลลาร์ โดยเงินอีก 0.3 ดอลลาร์นั้น ถูกเก็บไว้เฉยๆ นักลงทุนที่นำเงินเข้ามาลงทุนจึงมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากเงิน 0.3 ดอลลาร์ที่ไม่สามารถนำไปแสวงหาผลตอบแทนได้

.
มาตรการนี้จึงเป็นการลดแรงจูงใจในการที่จะนำเงินเข้ามาเพื่อเก็งกำไร ทั้งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดการเงินภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนักลงทุนนำเงินเข้ามาแล้วเอาเงินออกก่อนครบ 1 ปีก็จะถูกริบเงินสำรองไปร้อยละ 10 ดังนั้น นักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ในประเทศที่มีอยู่ต่ำกว่า 1 ปีจะต้องเสียต้นทุนค่าเสียโอกาสบนเงินสำรองร้อยละ 30 บวกด้วยต้นทุนจากการสูญเสียเงินสำรองอีกร้อยละ 10
.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อตลาดหุ้นรุนแรงกว่าที่คาด เนื่องจากทำให้ตลาดหุ้นในวันถัดมาคือวันที่ 19 ธ.ค. เกิดความปั่นป่วนและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถึงร้อยละ 14.8 ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาประกาศยกเว้นให้เงินที่เข้ามาเพื่อลงทุนในหุ้นไม่ต้องถูกหักสำรอง และต่อมาในช่วงต้นปี 2550 ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้เพิ่มความยืดหยุ่นของมาตรการให้มากขึ้น

.
โดยยอมให้เงินทุนไหลเข้าที่เป็นเงินกู้ยืมทั่วไปและเงินกู้ยืมระหว่างบริษัทในเครือ และเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้ สามารถเลือกใช้การประกันความเสี่ยงเต็มจำนวนกับสถาบันการเงินภายในประเทศ (Fully Hedge) แทนการกันสำรองได้ และหลังจากนั้นยังได้ผ่อนคลายให้เงินลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน ไม่ต้องกันสำรองอีกด้วย
.
ผลของมาตรการต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท

ถึงแม้ว่ามาตรการกันสำรองร้อยละ 30 จะไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้กลับไปอ่อนค่าลงได้ แต่อย่างน้อยมาตรการนี้ก็มีส่วนอย่างมากที่ช่วยให้การแข็งค่าเงินบาทมีความสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคมากขึ้น และช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีต่อภาคการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง

..

รูปที่ 2 การเปลี่ยนแปลงของเงินสกุลต่างๆ เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2549 ถึงวันที่ 26 ก.พ. 2551

.

อย่างไรก็ตาม ผลที่ไม่พึงประสงค์จากมาตรการนี้และได้สร้างความไม่สบายใจให้กับทั้งนักวิชาการและนักลงทุนก็คือการที่ค่าเงินบาทที่ซื้อขายภายในประเทศกับค่าเงินบาทที่ซื้อขายภายนอกประเทศ มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยที่ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศจะแข็งกว่าค่าเงินบาทภายในประเทศเฉลี่ยประมาณ 2.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 6.4 และในบางช่วงความแตกต่างของค่าเงินบาทระหว่างทั้งสองตลาดสูงถึง 4.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

..

รูปที่ 3 การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในตลาด Onshore กับตลาด Offshore ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2549

.

นอกจากนั้น มาตรการนี้ยังถูกมองว่าเป็นตัวการในการบั่นทอนความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการลงทุนในตลาดทุนของไทยอีกด้วย เนื่องจากการใช้มาตรการในลักษณะของ Capital Control ทำให้ดูเสมือนว่าประเทศไทยไม่ต้อนรับเงินลงทุนจากต่างชาติ และทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศไทยมีความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสูง ซึ่งถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับนักลงทุนต่างชาติ

.

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลังยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30

ผลกระทบจากการยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 จะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในอัตราที่เร็วขึ้น เนื่องจากจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้นที่เคยถูกควบคุมไว้โดยมาตรการดังกล่าว มีแนวโน้มว่าจะเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นตามกระแสการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯกำลังประสบปัญหาและมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะต่อไป

.
รวมถึงแนวโน้มที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯน่าจะยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุม FOMC ในวันที่ 18 มีนาคมที่จะถึงนี้ การไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นดังกล่าวจะทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดทุนภายในประเทศมีความผันผวนมากขึ้น แม้จะมีมาตรการเสริมออกมาเพื่อรองรับการยกเลิกดังกล่าว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการที่ออกมาจะสามารถป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินได้ ภาระหนักจึงอาจจะยังตกอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจต้องเข้าแทรกแซงเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ฐานะการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในประเด็นที่สำคัญๆ มีดังนี้
.

จำนวนมาก หากผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มนี้มีการปิดกิจการเพิ่มขึ้นก็อาจทำให้อัตราการว่างงานของไทยสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชนในระยะต่อไปได้ 

.

1. การส่งออก การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทจะทำให้ผู้ผลิตสินค้าส่งออกในกลุ่มที่มีการนำเข้าวัตถุดิบในสัดส่วนที่ต่ำ แต่ใช้แรงงานภายในประเทศสูง เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด แม้ว่าสินค้าส่งออกในกลุ่มนี้มีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมมากนัก แต่สินค้าในกลุ่มนี้มีการจ้างงานเป็น สำหรับการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน คงจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูงมีสัดส่วนของวัตถุดิบนำเข้าที่ใช้ในการผลิตสูง

.

ขณะที่มีการจ้างงานภายในประเทศค่อนข้างน้อย ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นการผลิตโดยเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งมีกระบวนการผลิตเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของโลกอยู่แล้ว ทำให้การบริหารต้นทุนการผลิตมีความยืดหยุ่นกว่าผู้ประกอบการที่มีโรงงานอยู่แต่เฉพาะในประเทศไทย ในขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรก็ยังคงได้ประโยชน์จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา จึงช่วยชดเชยผลในด้านลบจากการแข็งค่าของเงินบาทได้พอสมควร

.

2. อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสินค้าเป็นเงินบาทลดลง ซึ่งสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยและมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมากก็คือ น้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบซึ่งถูกใช้อ้างอิงสำหรับราคานำเข้าน้ำมันของไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นจนใกล้ 95 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้ว เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับในระยะเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับเพียงประมาณ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเท่านั้น ดังนั้น การแข็งค่าของเงินบาทจึงน่าจะช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบลดต่ำลง ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศลดลงได้บ้าง แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่มีต่อเงินเฟ้อจึงน่าจะไม่รุนแรงมาก

.
3. อัตราดอกเบี้ย มีการคาดการณ์กันว่าหากยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ไปแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากธนาคารกลางของสหรัฐฯปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกในการประชุมวันที่ 18 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เพื่อลดความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงจูงใจในการเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันมากขึ้น
.

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ล่าสุดอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 5.4 ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะทำได้ยากลำบากขึ้น การปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาแรงกดดันที่มีต่อเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นว่าเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ไปแล้วจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะนี้ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปีการลดดอกเบี้ยอาจสามารถทำได้ หากมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง

.

4. การระดมทุนในตลาดทุน การยกเลิกมาตรการนี้จะช่วยให้การระดมทุนในตลาดตราสารหนี้กลับมาคึกคักขึ้น เนื่องจากเงินทุนที่ไหลเข้ามาจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ต่อตราสารหนี้ของไทย และทำให้ต้นทุนในการระดมทุนของภาคเอกชนลดลง ตลาดตราสารหนี้จึงน่าจะกลับมาเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญสำหรับภาคเอกชนของไทยอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ ขณะที่ตลาดหุ้นก็น่าจะได้รับผลดีตามไปด้วย แม้ว่าเดิมการลงทุนในตลาดหุ้นจะไม่ได้ถูกมาตรการนี้ควบคุมไว้ก็ตาม แต่การยกเลิกมาตรการดังกล่าวน่าจะทำให้บรรดากองทุนของต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดทุนของไทยมากขึ้น

.

โดยภาพรวมแล้ว การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยคงไม่ถูกกระทบจากการยกเลิกมาตรการนี้มากนัก แม้ว่าการส่งออกอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็จะถูกชดเชยจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งน่าจะได้รับผลดีจากการยกเลิกมาตรการนี้

.

สำหรับในระยะยาว ค่าเงินบาทอาจจะไม่ได้แข็งค่าขึ้นรุนแรงอย่างที่คาดการณ์กันไว้ก็ได้ หากการลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และภาครัฐเร่งให้เกิดการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าได้โดยเร็ว ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสินค้าทุนเร่งตัวขึ้น ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะมีแนวโน้มเกินดุลลดลง และแรงกดดันที่จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นในปลายปีนี้ ก็จะทำให้มีกระแสเงินทุนไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะค่อยๆกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง และปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทก็น่าจะสิ้นสุดลง