เนื้อหาวันที่ : 2008-03-04 13:48:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1596 views

นักวิชาการ ชี้เลิกสำรอง30% เชื่อต่างชาติฟื้นลงทุน เงินบาทมีเสถียรภาพ

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นิด้า เผยการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของแบงก์ชาติ ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย เชื่อเม็ดเงินต่างชาติจ่อเข้าลงทุนเพียบ แนะผู้ประกอบการภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพการผลิต เน้นลดต้นทุน ทดแทนปัจจัยความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ 

รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) 

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า

.

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า เผยการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของแบงก์ชาติ ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย เชื่อเม็ดเงินต่างชาติจ่อเข้าลงทุนเพียบ ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทมีเสถียรภาพขึ้น หลังอัตราออฟชอร์-ออนชอร์วิ่งเข้าหากันจนเหลืออัตราเดียว ยอมรับค่าเงินมีโอกาสแข็งค่าแตะ 30 บาทต่อดอลลาร์ แนะผู้ประกอบการภาคเอกชนพัฒนาศักยภาพการผลิต เน้นลดต้นทุน ทดแทนปัจจัยความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

.

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์  รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA)  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง กล่าวถึงการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2549 โดยจะมีผลในวันที่ 3 มีนาคม 2551 ว่าส่งผลดีต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยพอสมควร  ซึ่งคาดว่าดัชนีราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวดังกล่าวในช่วง 2-3 วันแรกของการซื้อขายในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการยกเลิกมาตรการดังกล่าวมีผลในเชิงจิตวิทยาทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น

.

ทั้งนี้ ในปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติต้องการโยกย้ายเงินลงทุนมายังภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการถดถอยของเศรษฐกิจอยู่แล้วจึงส่งผลให้ เศรษฐกิจของสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว  และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ทำให้เม็ดเงินลงทุนต้องแสวงหาที่ซึ่งให้ผลตอบแทนได้ดีและมีความปลอดภัยกว่า  ซึ่งต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นหรือP/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

.

"ขณะนี้ตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E Ratio อยู่ที่ 10-12 เท่า ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก เมื่อเทียบกับยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ที่จะอยู่ในราว 20 เท่า ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า  ส่วน P/E Ratio ของตลาดหุ้นเวียดนาม สูงถึง 80 เท่า เช่นเดียวกับจีนที่ค่า P/E Ratio สูงถึง 40 เท่า ดังนั้น ตลาดหุ้นไทยจึงถือว่าได้เปรียบเพราะสะท้อนให้เห็นถึงราคาหุ้นที่ยังต่ำอยู่มาก ประกอบกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีโอกาสในการทำกำไรที่สูงในอนาคต  ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น" รศ.ดร.มนตรีกล่าว

.

รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA)  นิด้า กล่าวด้วยว่า นอกจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะส่งผลดีกับตลาดหุ้นไทยแล้ว ยังจะส่งผลดีต่ออัตราแลกเปลี่ยนด้วย โดยจะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น และสะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากในขณะที่มาตรการกันสำรอง 30% มีผลบังคับใช้อยู่นั้น ประเทศไทยมีอัตราแลกเปลี่ยน 2 อัตราซ้อนกันอยู่ นั่นคือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อขายกันในประเทศหรือออนชอร์ (onshore) และอัตราแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในต่างประเทศหรือออฟชอร์ (offshore) ซึ่งเกิดช่องว่างระหว่างสองอัตราห่างกันถึง 10% โดย offshore จะแข็งค่ากว่า ส่งผลให้ผู้ส่งออกและนำเข้าไม่สามารถหาอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนในการอ้างอิงกับคู่ค้าต่างประเทศไทย เพราะต่างฝ่ายต่างก็ใช้อัตราที่ตนเองได้ประโยชน์สูงสุด

.
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หลังจากยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% แล้ว ค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าขึ้นไปแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ เนื่องจากความต้องการเงินบาทจะเพิ่มมากขึ้น จากความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งทางการควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะจะเป็นการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ชัดเจน
.

"แต่หากเป็นการผันผวนจากการเก็งกำไรหรือเป็นไปอย่างผิดปกติ ทางการจึงค่อยเข้าไปบริหารจัดการ แต่เชื่อว่า หลังจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนคงจะไม่ได้ผันผวนมากนัก เพราะมีมาตรการของ ธปท.ที่ประกาศใช้เมื่อเดือน สิงหาคม 2550 จำนวน 6 มาตรการเป็นส่วนที่รองรับ ซึ่งแบ่งเป็นมาตรการลดความต้องการเงินบาท 3 มาตรการ และเพิ่มเงินบาทในระบบ 3 มาตรการ และล่าสุดยังมีการประกาศมาตรการเพิ่มอีกประมาณ 2-3 มาตรการซึ่งจะมีผลในวันที่ 3 มีนาคม 2551  เพื่อป้องกันการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน"รศ.ดร.มนตรี กล่าว

.

สำหรับผู้ประกอบการในส่วนของภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบทั้งในแง่บวกและลบจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น จุดสำคัญที่สุดอยู่ที่การเพิ่มศักยภาพในด้านการผลิต รวมถึงการลดต้นทุน ซึ่งหากสามารถลดต้นทุนได้ 10% ก็จะช่วยทดแทนการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินไปได้ถึง 10% ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้