เนื้อหาวันที่ : 2008-03-04 09:21:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2103 views

TICON เดินเครื่อง TPARK เต็มสูบ ทุ่มงบกว่า 3 พันล. พัฒนาศูนย์กระจายสินค้าครบวงจร

TICON ผลักดันโลจิสติกส์ พาร์ค TPARK เดินหน้าเต็มพิกัด หลังทุ่มงบ กว่า 3 พันล้านบาท สร้างเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ ศูนย์กลางการกระจายสินค้า คลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมครบวงจร ชูทางบก ทางน้ำและทางอากาศ

 

.

TICON ผลักดันโลจิสติกส์ พาร์ค TPARK เดินหน้าเต็มพิกัด หลังทุ่มงบ กว่า 3 พันล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 450 ไร่บนถนนบางนา-ตราด สร้างเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า คลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมครบวงจร ชูจุดเด่นทั้งทำเลที่ตั้งเหมาะกับการกระจายสินค้า ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ขณะที่รูปแบบของคลังสินค้าก็สามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้เป็นอย่างดีด้วยงบกว่า 1 พันล้าน ลุยพัฒนาโครงการพร้อมขยายพื้นที่เพิ่ม

.

นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนการลงทุนในการสร้างเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์แบบครบวงจร เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า คลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรม หรือ TICON LOGISTICS PARK (TPARK) ว่าหลังจากที่ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด ทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท

.

โดยได้ซื้อที่ดินแห่งใหม่จากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) จำนวน 450 ไร่ บนถนนบางนา-ตราด กม.39 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา ด้วยมูลค่าเงินลงทุน กว่า 3 พันล้านบาทนั้น ขณะนี้ TPARK ได้ก่อสร้างจนสามารถให้บริการได้แล้ว โดยลูกค้ารายแรกที่เข้าไปเช่าพื้นที่ ได้แก่ บริษัท MITS Logistics ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัท MitsuiSoKo ได้เข้าไปใช้คลังสินค้าในพื้นที่เพื่อเป็นศูนย์กระจายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน (White Goods) จากทวีปยุโรป

.

นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของ TPARK นั้น มีทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติคส์ และ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ เช่น บริษัท Takata-Toa จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยและพวงมาลัยสำหรับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น บริษัท NEC Logistics (ประเทศไทย) จำกัด ผู้กระจายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือนไปยังเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริษัท Chantasia จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในสตรีไปต่างประเทศ และ บริษัท LG Electronics (ประเทศไทย) จำกัด ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เช่าที่ใช้คลังสินค้าเพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเพื่อการส่งออก เป็นต้น

.
"การลงทุนสร้าง TPARK เกิดจากการที่ TICON ต้องการรองรับความต้องการใช้พื้นที่เพื่อเป็นคลังสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นของลูกค้า โดยกลุ่มลูกค้าหลักของทางบริษัท ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนอยู่ถึงประมาณ 50% รวมถึงลูกค้ากลุ่มยานยนต์อีก ประมาณ 20% ซึ่งเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นถึง 50% รองลงมาเป็นยุโรปและสิงคโปร์ ที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ให้การส่งเสริมธุรกิจนี้อย่างมาก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย" นายวีรพันธ์กล่าว
.

สำหรับแผนงานในปี 2551 นั้น จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ในการเดินหน้าขยายธุรกิจ ประกอบด้วย ส่วนแรก ขยายพื้นที่ Logistics Park ที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ โครงการ TPARK บางนา ตั้งอยู่บนถนน บางนา-ตราด กม. 39 โครงการ TPARK วังน้อย ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน กม. 55 และ โครงการ TPARK แหลมฉบัง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 7 ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง

.

โดยโครงการ TPARK บางนา เป็นโครงการแรกที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ให้การส่งเสริมเมื่อปี 2550 ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ดินขนาด 450 ไร่ที่ขณะนี้เพิ่งใช้พื้นที่ไปเพียง 40,000 ตารางเมตร โดยปีนี้จะขยายพื้นที่อีก 50,000 ตารางเมตร ทำให้ในปี 2551 จะมีการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 90,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ ลูกค้าหลักของโครงการดังกล่าวจะเป็นกลุ่มลูกค้าจากภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ประกอบการโลจิสติคส์ ที่ประกอบกิจการนำเข้าและส่งออกทั้งทางอากาศ และ ทางน้ำ โดยประเภทของธุรกิจนั้น มีทั้งกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สินค้าอุตสาหกรรม และ สินค้าอุปโภคบริโภค

.

"เราคาดว่า ในปี 2552-2553 ที่บางนาจะเป็นจุดสำคัญในการกระจายสินค้าไปยังกทม.และส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งโครงการ TPARK บางนา ได้มีการจัดตั้งเขตปลอดอากร(Customs Free Zone) ขึ้นเป็นที่แรก โดยลูกค้าที่มาใช้บริการส่วนใหญ่จะมาจากโรงงานอุตสาหกรรมย่านบางนา บางปะกง ฉะเชิงเทรามากขึ้น" โครงการ TPARK วังน้อย เป็นโครงการโลจิสติคส์ พาร์ค โครงการที่ 2 ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน กม. 55 พื้นที่ของโครงการทั้งหมดกว่า 200 ไร่ ปัจจุบันมีลูกค้ารายแรกได้ทำการเซ็นต์สัญญาเช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคลังสินค้าแบบห้องเย็นก็จะแล้วเสร็จพร้อมใช้ในปลายเดือนพฤษภาคมปีนี้

.

ส่วนโครงการ TPARK แหลมฉบัง เป็นโครงการโลจิสติคส์ขนาดย่อม ซึ่งปัจจุบันมีคลังสินค้าสร้างแล้วเสร็จขนาด 20,000 ตารางเมตร และมีผู้เช่าเข้าใช้พื้นที่แล้ว ซึ่งใน ขณะนี้ก็กำลังขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 30,000 ตารางเมตร

.

นายมานพ เจริญขจรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด หรือ TPARK ผู้ให้บริการคลังสินค้า เพื่อให้เช่า และพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ กล่าวถึงโครงการ TPARK ว่ามีจุดเด่นที่สำคัญหลายด้าน อาทิเช่น ทำเลที่ตั้ง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคลังสินค้า เพราะเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับท่าเรือแหลมฉบัง ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก (Eastern Seaboard) นอกจากนี้ ยังอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิอีกด้วย

.

ซึ่งจุดนี้เอง ทำให้คลังสินค้าของ TPARK เป็นคลังสินค้าที่เหมาะแก่การเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางบก และการขนส่งทางน้ำ ขณะเดียวกัน ยังมีจุดเด่นด้านตัวอาคารคลังสินค้าที่ได้ออกแบบอย่างเหมาะสมกับกิจกรรมภายในคลังสินค้า รูปแบบของตัวอาคารจะคำนึงถึงระยะห่างของช่วงเสา ความสามารถในการรับน้ำหนักของพื้น ความสูงของอาคาร จำนวนประตูสำหรับขนถ่ายสินค้า และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park) ได้จัดตั้งคลังสินค้าในเขตปลอดอากร (Customs Free Zone) เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากคลังสินค้าอย่างเต็มขีดความสามารถ รวมถึงมีสำนักงานศุลกากร (Customs House) ภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ ที่เปิดให้บริการแบบ One-Stop Service ตลอด 24 ชม.

.

นายมานพ ยังกล่าวต่ออีกว่า TPARK ยังมีบริการถึง 3 รูปแบบด้วยกันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งบริการแรกได้แก่ Ready-Built Warehouses หรือการพัฒนาพื้นที่และสร้างคลังสินค้าล่วงหน้าไว้รองรับความต้องการของลูกค้า ซึ่งบริการนี้จัดเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สร้างจุดเด่นให้กับบริษัทฯ ซึ่งลูกค้าสามารถมีคลังสินค้าคุณภาพดีใช้งานได้ทันที ในส่วนของบริการที่สองได้แก่ Built-To-Suit Warehouses หรือบริการที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ทั้งสถานที่ตั้งของคลังสินค้า รวมถึงรูปแบบคลังสินค้าที่ต้องการ บริษัทฯ ก็สามารถเข้าไปพัฒนาและสร้างคลังสินค้าตามรายละเอียดเฉพาะทางต่างๆ

.

และบริการสุดท้ายได้แก่ Sale-and-Leaseback ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับลูกค้า บริการนี้จะเป็นการต่อยอดของกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการและพึงพอใจในรูปแบบการให้บริการของ TICON มาแล้ว เนื่องจากบริการ Sale-and-Leaseback คือการขายสินทรัพย์ของลูกค้าให้แก่บริษัทฯ หลังจากที่บรรลุข้อตกลงเรื่องการซื้อขายกันแล้ว ลูกค้าก็กลับเข้าไปใช้พื้นที่หรือคลังสินค้าดังกล่าวเหมือนเดิม แต่แทนที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็เปลี่ยนมาเป็นลูกค้าที่ทำสัญญาเช่าคลังสินค้าแทน ซึ่งบริการนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ต้องการปรับโครงสร้างองค์กรให้กลายมาเป็น asset-light company อีกด้วย