เนื้อหาวันที่ : 2008-03-04 09:07:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1438 views

ธีระชัย ดันอีสานศูนย์กลางผลิตพืชพลังงานทดแทน

"ธีระชัย" ดันอีสานศูนย์กลางผลิตพืชพลังงาน มอบ 3 แผนข้าราชการ เร่งพักหนี้เกษตรกร สร้างระบบป้องกันความเสี่ยงให้เกษตรกรและลดผลกระทบจากราคาน้ำมัน

.

"ธีระชัย" ดันอีสานศูนย์กลางผลิตพืชพลังงาน มอบ 3 แผนข้าราชการ เร่งพักหนี้เกษตรกร สร้างระบบป้องกันความเสี่ยงให้เกษตรกรและลดผลกระทบจากราคาน้ำมัน

.
นายธีระชัย แสนแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมข้าราชการระดับ 8 ขึ้นไปของ 5 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ องค์การสวนยาง และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) รวม ประมาณ 600 คน ว่า เกษตรกรเป็นกลุ่มประชากรที่ควรยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งหน่วยงานทั้ง 5 หน่วยงาน ต้องเข้าไปขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ประกอบด้วย ต้นทุนการผลิตสูง ขาดที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ พันธุ์พืชและสัตว์ที่ด้อยคุณภาพและให้ผลผลิตต่ำ ปุ๋ย และสารเคมี มีราคาแพง
.
ทั้งนี้นโยบายที่ต้องทำเร่งด่วนภายในปี 2551 เกี่ยวข้องกับ 5 หน่วยงาน คือ 1.พักหนี้ของเกษตรกรรายย่อยและยากจน ที่ผ่านกระบวนการจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพ เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง 2.สร้างระบบประกันความเสี่ยงให้เกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากผลกระทบความเสียหายจากภัยธรรมชาติ และสร้างกลไกในการสร้างเสถียรภาพราคาของสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม และ 3. ดำเนินมาตรการลดผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเร่งรัดโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซธรรมชาติ และผลผลิตทางการเกษตร
.
ในส่วนของพืชพลังงาน BIO-ENERGY ระยะแรก ตั้งแต่ปี 2551-2553 จะส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน เป็นมาตรการรองรับ ความต้องการของตลาดที่มากขึ้น ทั้ง ปาล์มน้ำมันที่จะขยายพื้นที่ตามความเหมาะสม ในเขตภาคใต้และตะวันออก มันสำปะหลังและอ้อยจะเร่งรัดเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทนการขยายพื้นที่ คาดว่าอ้อย จะมีผลผลิตเพิ่มเป็น 13ตันต่อไร่ จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 9.6 ตัน/ไร่ จากพื้นที่ทั้งประเทศ 6.6 ล้านไร่ มันสำปะหลัง จะเพิ่มผลผลิต เป็น 5.5 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ผลิตได้ 3.6 ตัน/ไร่ จากพื้นที่ทั้งประเทศ 7.1 ล้านตัน/ไร่
.

ทั้งนี้จะเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต โดยจะหารือกับ กระทรวงพลังงาน ถึงความต้องการเอทานอล แล้วนำมากำหนดพื้นที่เป้าหมายและการทำโซนนิ่ง จัดทำทะเบียนเกษตรกรเพื่อผลักดันเข้าสู่ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ระหว่างเกษตรกร สหกรณ์ และโรงงานเอทานอล ประกันราคาผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและประเทศลดการนำเข้าน้ำมัน ในอนาคต

.

"ปัจจุบัน เกษตรกรของไทยมีศักยภาพจะขยายกำลังการผลิตมากขึ้น ทั้งมันสำปะหลังและอ้อย ดังนั้นการผลักดันให้พืชเหล่าสนี้เข้าสู่อุตสาหกรรมพืชพลังงานจึงสามารถทำได้ทันที ซึ่งผมมี เป้าหมาย คือ ผลักดันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโอเปค ในเรื่องพืชพลังงานของไทย" นายธีระชัย กล่าว

.
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์