เนื้อหาวันที่ : 2008-02-26 16:26:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2216 views

คต. เตือนผู้ส่งออกระวังการใช้สาร RoHS ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กฯไปอียู

สมาชิกสหภาพยุโรป เริ่มเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ผ่านข้อกำหนดด้านการจำกัดการใช้สารอันตราย (RoHS)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ในระยะที่ผ่านมาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เริ่มเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ผ่านข้อกำหนดด้านการจำกัดการใช้สารอันตราย (RoHS) เช่น หน่วยงาน NWML (National Weight and Measurement Lab) ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย RoHS ของประเทศอังกฤษ พบตะกั่วที่ปนเปื้อนในสารบัดกรีไร้สารตะกั่ว นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบสารเคมีต้องห้ามประเภท Cr (VI) (Hexavalent Chromium) ในสกรู และปรอทในตัวชิ้นส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

.

ในส่วนของฟินแลนด์ ระบุว่าจะเน้นตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในครัวเรือน (White goods) ก่อน ขณะที่สวีเดนจะมุ่งเน้นการตรวจสอบสินค้าขนาดเล็กและมีอายุ การใช้งานสั้นก่อน โดยจะนำเอาเครื่อง XRF (X-Ray Fluorescence) ไปใช้ในการตรวจสอบ หากมีเหตุต้องสงสัยว่าสินค้าจะไม่เป็นไปตามข้อกำหนด โดยผู้ประกอบการจะต้องนำเอกสาร/หลักฐานยืนยัน RoHS Compliance มาแสดง และอาจจะมีการเก็บตัวอย่างสินค้าต้องสงสัย เพื่อนำไปทดสอบโดยละเอียด หากพบว่าสินค้านี้มีปริมาณสารต้องห้ามเกินกำหนด และผิดกฎหมาย RoHS สินค้าก็จะถูกนำออกจากตลาดไป

.

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการถูกตรวจพบสาร RoHS หน่วยงาน NWML ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้  1. ดูแลการจ้างช่วงให้ดี เพราะเป็นจุดที่องค์กรมักเสียการควบคุมในกระบวนการผลิต  2. ให้ความสนใจกับป้องกันการปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริษัทที่ผลิตสินค้าทั้งที่เป็น RoHS และ NON-RoHS 3. ฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถอ่านและเข้าใจเอกสารที่ผู้ขายหรือ Lab ส่งมาให้เพราะเคยพบหลายคดีที่ข้อมูลที่ผู้ขายส่งมาให้ระบุชัดเจนว่าสินค้าไม่ผ่าน RoHS แต่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจความหมายจึง Qualify วัสดุผิด

.

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการไทยจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของ NWML เพื่อป้องกันปัญหาการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยถูกตรวจพบสารต้องห้ามตามข้อกำหนดของระเบียบ RoHS ทั้งนี้ในปี 2550 ไทยส่งออกสินค้านี้ไป EU มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 253,227 ล้านบาท (ปี 2548-2550) โดยในปี 2550 ไทยส่งออกมูลค่า 275,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 8