เนื้อหาวันที่ : 2006-07-27 11:47:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1350 views

กฟผ.อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนสนองนโยบายรัฐ

คณะกรรมการ กฟผ. อนุมัติแผนโครงการโรงไฟฟ้าอาร์พีเอส 140 เมกะวัตต์ของ กฟผ. ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อน โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวลและขยะ ขณะที่อนุมัติแผนตรึงค่าเอฟทีโดยเร่งนำโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเข้าระบบและเร่งการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อมให้โรงไฟฟ้าน้ำพอง

คณะกรรมการ กฟผ. อนุมัติแผนโครงการโรงไฟฟ้าอาร์พีเอส 140 เมกะวัตต์ของ กฟผ. ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อน โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวลและขยะ ขณะที่อนุมัติแผนตรึงค่าเอฟทีโดยเร่งนำโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีเข้าระบบและเร่งการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อมให้โรงไฟฟ้าน้ำพอง

.

นายณอคุณ สิทธิพงศ์  กรรมการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ กฟผ. ประจำเดือนกรกฎาคม 2549 ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ กฟผ. อนุมัติแผนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน  (อาร์พีเอส) 5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 140 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าใหม่ 4 แห่งของ กฟผ. ตามนโยบายรัฐบาล คือ โรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนของกรมชลประทาน จำนวน 78 เมกะวัตต์ โดยให้ กฟผ. ลงนามความร่วมมือกับกรมชลประทานในการพัฒนาโรงไฟฟ้า ท้ายเขื่อน 6 แห่ง ได้แก่  เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  เขื่อนขุนด่านปราการชล (คลองท่าด่าน)  เขื่อนนเรศวร เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนแควน้อย และเขื่อนแม่กลอง ใช้เงินลงทุน 4,705 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนเฉลี่ย 2.20 บาท

.

นายณอคุณ  กล่าวต่อไปว่า  นอกจากนี้คณะกรรมการ กฟผ. ได้ให้ กฟผ. จัดทำทีโออาร์ในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน จำนวน 60 เมกะวัตต์ โดยแยกเป็นโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ 10 เมกะวัตต์  โรงไฟฟ้าพลังงานลม 10 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 20 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ 20 เมกะวัตต์

.

สำหรับส่วนที่เหลือได้ให้ กฟผ. ติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ที่อาคารสำนักงานของ กฟผ. ทั่วประเทศ จำนวน 1 เมกะวัตต์ และสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม อีก  1 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้พื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เนื่องจาก กฟผ. ได้เคยศึกษาไว้แล้ว

.

กรรมการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ กฟผ.  กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือน มกราคม 2550 นั้น กฟผ. มีแนวทางในการช่วยตรึงราคาค่าเอฟที เพื่อไม่ให้เพิ่มภาระกับประชาชน ตามนโยบายกระทรวงพลังงานคือ เจรจากับ บีแอลซีพี พาวเวอร์ จำกัด ให้นำโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีหน่วยที่ 1 เข้าสู่ระบบกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมคือเดือนตุลาคม 2549 จะทำให้ กฟผ. และหน่วยที่ 2 ที่จะเข้าสู่ระบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ให้เลื่อนมาเข้าสู่ระบบเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงได้รวม 2,500 ล้านบาท  

.

นอกจากนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้าน้ำพองได้เตรียมการสำหรับรองรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อม จ.อุดรธานี ซึ่งได้เจรจาให้ส่งก๊าซฯ เร็วขึ้น คือจากเดือนธันวาคมเป็นเดือนตุลาคม 2549 ซึ่งจะช่วยลด ค่าเชื้อเพลิงได้ 665 ล้านบาท ลดการใช้น้ำมันเตาได้ 150 ล้านบาท  อย่างไรก็ตามยังมีในส่วนของเขื่อน วชิราลงกรณ ที่ขณะนี้ได้เก็บกักน้ำไว้ในปริมาณมากสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนตุลาคม 2549 ถึงเดือนมกราคม 2550 จะไม่มีการปรับค่าเอฟทีแน่นอน