เนื้อหาวันที่ : 2008-02-26 08:33:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1162 views

รมว.คลังกระตุ้นศก.ดันมาตรการภาษี-คงVAT-เร่งลงทุนภาครัฐ 1.5 ล้านลบ.ใน 4ปี

รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเครื่องยนต์ 3 ตัวที่จะยังเดินเครื่องไม่เต็มที่ทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ซึ่งจะมีการนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเครื่องยนต์ 3 ตัวที่จะยังเดินเครื่องไม่เต็มที่ทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ซึ่งจะมีการนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์หน้า

.

การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนที่ยังชะลอการลงทุนอยู่ ซึ่งรัฐจะต้องเริ่มต้นด้วยตัวรัฐเอง โดยกำลังจะมีการตั้งคณะกรรมการดูแลโครงการเมกะโปรเจ็คต์ 5 ด้านเข้าครม.ในวันพรุ่งนี้ ประกอบด้วย รถไฟฟ้า สนามบินสุวรรณภูมิ ระบบน้ำ การศึกษา และ สาธารณสุข ซึ่งรัฐบาลยังมีช่องทางที่จะกู้เงินมาลงทุนได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปีข้างหน้า โดยไม่เสียวินัยทางการคลังที่จะรักษาหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี หากผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตของจีดีพีในแต่ละปีราว 5-6%

.

สำหรับโครงการเมกะโปรเจ็คต์ของรัฐคาดว่าเม็ดเงินคงจะเริ่มใช้จ่ายได้อย่างเร็วปลายปี 51 หรือ ต้นปี 52 ที่เงินจะลงสู่ระบบ ดังนั้น รัฐก็จะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่าง ๆ ไปสู่ฐานราก ซึ่งยังมีงบประมาณหลายส่วนที่ค้างท่ออยู่ รวมถึงงบประมาณในกองทุนต่าง ๆ ที่ไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอีกหลายพันล้านบาท

.

ส่วนงบประมาณกลางปี ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปในวันนี้ ซึ่งจะต้องพิจารณาความจำเป็นต่อไปในการตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มเติม และสำคัญแค่ไหนที่จะอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบฐานราก

.

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเข้ามาเสริม โดยขณะนี้หลายมาตรการได้ข้อสรุปแล้ว และบางส่วนยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการที่จะมีการหยิบยกมาใช้ ได้แก่ มาตรการภาษี ที่จะมีการเพิ่มค่าลดหย่อนในด้านต่าง ๆ ทั้งค่าลดหย่อนในการดูแลคนพิการในครอบครัว ค่าลดหย่อนในระบบประกัน, การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ที่ 7% ไปอีก 2 ปีจากที่จะสิ้นสุดในก.ย.นี้

.

รัฐจะสร้างความชัดเจนในกฎหมายที่เกี่ยวข้องระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกฎหมายคนต่างด้าว ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขโดยยึดหลักเทียบเคียงกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และยึดหลักกฎหมายสากลที่จะต้องไม่มีโทษย้อนหลัง รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุน ด้วยการสร้างนาทีทองให้เอกชนเร่งลงทุนในระยะ 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งจะมีการตั้งปีอินเวสเมนท์เยียร์

.

นพ.สุรพงษ์ กล่าวถึงมาตรการส่งเสริมตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เป็นสิ่งสำคัญ โดยในวันที่ 27 ก.พ.นี้จะเดินทางไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นว่าในด้านธรรมภิบาลควรมีการให้รางวัลกับบริษัทจดทะเบียนที่ดี

.

สิ่งเหล่านี้คงไม่เพียงพอที่จะสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ดังนั้น จะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการก้าวกระโดดในการแข่งขันในอนาคต ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอนาคต และการก้าวพ้นการอาศัยแรงงานราคาถูก รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์