เนื้อหาวันที่ : 2008-02-25 11:44:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1514 views

กรีนพีซจี้รัฐ-ประชาสังคม เร่งป้องกันปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้าเอเชีย

ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ขยายเป็นวิกฤตปัญหาประชาชนคนไทยร้องรัฐบาลแก้ไขอนุสัญญาบาเซล ห้ามประเทศภาคีที่พัฒนาแล้วส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะอันตรายอื่นๆ มากำจัดทิ้งหรือรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย

.
รายงาน Toxic Tech: Not in Our Backyard ของกรีนพีซเผยประเทศไทย จีนและอินเดียกำลังกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเข้ามาในรูปแบบของสินค้ามือสองหรือซากผลิตภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล
.

หากไม่มีการป้องกันอย่างเหมาะสม สารพิษหลากหลายชนิดที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนงานและชุมชนรอบข้างโรงงานผู้ผลิต ร้านซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้ว โรงงานรีไซเคิล ผู้รับซื้อของเก่า ไปจนถึงแหล่งฝังกลบหรือเตาเผาขยะ

.

"ประเทศไทยต้องไม่ตกเป็นที่รับทิ้งขยะของประเทศใด ๆ ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมักจะมาในรูปแบบของสินค้ามือสองหรือซากผลิตภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายจากประเทศญี่ปุ่นมักจะมาโดยอาศัยช่องทางของข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น ในกรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย- ญี่ปุ่น หรือ JTEPA"  นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

.

กรมควบคุมมลพิษได้คาดการณ์ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย (อาทิ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์) จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 ต่อปีและจะมีมากถึง 128,220 ตันในปี 2553 แม้ว่าปริมาณดังกล่าวจะยังไม่ได้รวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้าซึ่งไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัด แต่ก็มากเกือบจะเท่ากับปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ซึ่งมีประมาณ 143,000 ตันต่อปี สำหรับประเทศอินเดีย ได้มีการประมาณว่า มากกว่าร้อยละ 99 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่มาจากในประเทศและนำเข้านั้น ในท้ายที่สุดจะตกอยู่ในการจัดการของกลุ่มรีไซเคิลนอกระบบ (informal recycling sector)

.

ประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ยังมีความยากลำบากในการประมาณตัวเลขที่แท้จริงของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่นอกระบบการจัดการ และยังไม่สามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนจากการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ได้รับการกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและที่จัดการ

.

โดยกลุ่มนอกระบบ ปัญหาเรื่องข้อมูลยังพบได้ในประเทศอุตสาหกรรมที่แม้จะมีกฎระเบียบที่รัดกุมแต่ก็ประสบกับปัญหาเรื่องข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการพบว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่าร้อยละ 75 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสหภาพยุโรปได้หายไปจากระบบซึ่งไม่ทราบว่าได้ถูกส่งไปที่ใด มีเพียงสหรัฐอเมริกาที่มีข้อมูลบ่งบอกว่ามีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าร้อยละ 80 ส่งออกไปกำจัดหรือรีไซเคิลยังประเทศกำลังพัฒนา

.

"เพื่อป้องกันไม่ไห้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ขยายเป็นวิกฤตปัญหา ประชาชนคนไทยควรเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้สัตยาบันต่อข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) ซึ่งห้ามประเทศภาคีที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงขยะอันตรายอื่น ๆ มากำจัดทิ้งหรือรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย และควรผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว มาใช้ในการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศอย่างเร่งด่วน" นายพลาย ภิรมย์ กล่าวเสริม

.

ขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมกำลังเพิ่มปริมาณสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ตามปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำของโลกบางรายได้เริ่มมีการรับซากผลิตภัณฑ์แบรนด์ของตนคืนเพื่อรีไซเคิล แต่ก็มีเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่การเรียกคืนโทรศัพท์มือถือเพื่อการรีไซเคิลคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น มีการประมาณว่าซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ประมาณร้อยละ 91 ของแต่ละแบรนด์ที่มีการรับคืนซากผลิตภัณฑ์หายไปจากระบบ แล้วเข้าสู่วงจรรีไซเคิลนอกระบบซึ่งไม่ทราบว่าจะถูกเคลื่อนย้ายไปที่ใด (hidden flow of e-waste)

.

"สิ่งที่น่ากังวล คือ เราไม่รู้ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกเล็ดลอดออกจากระบบจัดเก็บเพื่อรีไซเคิลนั้น ได้ถูกจัดการอย่างไร และจะสร้างความเสี่ยงให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนงานที่จัดการมากน้อยแค่ไหน ด้วยเหตุนี้ เราจึงพยายามผลักดันให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องรับผิดชอบในการรับหรือจัดเก็บซากผลิตภัณฑ์ของตนกลับคืน รวมถึงออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษซึ่งจะสามารถรีไซเคิลได้อย่างปลอดภัย" นายมาติน ฮอสซิก ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากลกล่าว

.
"สิ่งนี้จะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไม่สร้างปัญหาไม่ว่ามันจะถูกเคลื่อนย้ายไป ณ ที่ใด" นายมาติน กล่าวเสริม
.

ที่มา : กรีนพีซ