เนื้อหาวันที่ : 2008-02-20 15:08:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1912 views

สศอ. หนุนอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือไทย

โครงการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือแบบครบวงจร ผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมสนองรับนโยบายด้านโลจิสติกส์ ที่หันมามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำมากขึ้นเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

อุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ นับเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในการสนับสนุนกิจการการค้าระหว่างประเทศ โดยกว่าร้อยละ 90 ต้องพึ่งพาการขนส่งทางน้ำ เพราะสามารถบรรทุกสินค้าได้ปริมาณมากและยังมีต้นทุนการขนส่งที่ราคาถูกกว่าการขนส่งด้านอื่นๆ ดังนั้นการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการรับกับนโยบายด้านโลจิสติกส์ ที่หันมามุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำมากขึ้นเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

.

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) หรือโอไออี กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดังกล่าวยังไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเท่าที่ควรดังนั้นในการผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงได้ทำการศึกษาภายใต้ โครงการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือแบบครบวงจร

.

ซึ่งอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือนับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่นอกจากจะสนับสนุนกิจการเดินเรือขนส่งและกิจการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานจำนวนมากทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือเอง และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องจักรกล เครื่องยนต์ เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์การเดินเรือ อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน สีและเคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

.

จากการศึกษาศักยภาพและทิศทางของตลาดอุตสาหกรรมต่อเรือและอู่ซ่อมเรือไทยนับว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมนี้ให้แข็งแกร่งเป็นหนึ่งในอาเซียนเทียบเท่ากับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่พัฒนาอย่างแข็งแกร่งไปก่อนหน้าแล้ว จากตัวเลขการขนส่งทางเรือปี 2548 ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลถึง 6,120,901 ล้านบาท

.

โดยอุตสาหกรรมต่อเรือในปี 2549 มีรายได้ 3,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 200% ส่วนการซ่อมเรือมีรายได้ 2,013 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2546 มีมูลค่าเพียง 1,157 ล้านบาท  จากรายงานการศึกษาได้นำเสนอแนวทางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและอู่ซ่อมเรืออย่างยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

.

ระยะแรก เป็นการวางรากฐานอุตสาหกรรมการต่อเรือและการซ่อมเรือ โดยมุ่งที่การสร้างอุปสงค์ภายในประเทศและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต่อเรือและซ่อมเรือมีการดำเนินการที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีความเข้มแข็ง ประกอบไปด้วยมาตรการต่างๆ  เช่น การบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรีอย่างจริงจังให้เรือของรัฐบาลหรือส่วนราชการต้องต่อจากภายในประเทศ

.

รัฐบาลช่วยหาลูกค้าจากต่างประเทศมาต่อเรือในไทย สนับสนุนให้เอกชนผู้ประกอบการต่อเรือและซ่อมเรือสามารถหาลูกค้าจากต่างประเทศได้ เช่น ช่วยเจรจาหรือให้การค้ำประกันแก่เอกชน การสนับสนุนให้มีการใช้วัสดุจากภายในประเทศ และการจูงใจให้มีการใช้เรือที่ต่อในประเทศ เช่น ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเรือ การลดภาษีแก่ผู้ที่ต่อเรือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือแบบครบวงจร ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือทางภาษีโดยการลดอัตราภาษีในการลงทุน

.

การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน เช่น การค้ำประกันเงินกู้ การลดขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ ของทางราชการลง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว การจัดตั้งกองทุนและการจัดตั้งสถาบันทำหน้าที่พัฒนาสำหรับการต่อเรือและซ่อมเรือ เป็นต้น อีกทั้งยังมีแนวทางการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอู่เรือโดยการสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของผู้ประกอบการและสร้างความร่วมมือระหว่างอู่เรือในการดำเนินธุรกิจ

.

ระยะที่สอง สร้างความเป็นผู้นำในตลาดเรือเฉพาะทางและตลาดเรือพานิชย์ขนาด ไม่เกิน 20,000 GT ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่องการต่อเรือเฉพาะทางมาก การพัฒนาในส่วนนี้จะเป็นการสร้างผลผลิตได้ดีกว่า โดยการพัฒนาศักยภาพต่อเรือของไทยให้มีความต่อเนื่องซึ่งเน้นให้มีการต่อเรือเรือเฉพาะทางและตลาดเรือพานิชย์ภายในประเทศ การสร้างระบบการทำงานร่วมกันของอู่เรือ และอู่เรือกับส่วนอื่นๆ

.
เพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน การสร้างการร่วมทุนกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการวิจัย การสร้างองค์ความรู้ และการสร้างตราสินค้าสำหรับเรือเฉพาะทางของไทยให้เกิดขึ้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการต่อเรือ เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมด้านการต่อเรือและซ่อมเรือ
.

ระยะที่สาม สร้างอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดเรือของภูมิภาค โดยมีแนวทางและมาตรการต่างๆ เช่น การสร้างตราสินค้าของเรือเฉพาะทางและเรือพานิชย์ของไทย การสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อเรือและซ่อมเรือ ซึ่งประกอบไปด้วย ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ด้านกฏหมาย การเงิน และความรู้ด้านนาวาสถาปัตย์ และวิศวกรรมทางเรือ นอกจากนี้ยังสามารถดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ และการสร้างมาตรฐานเรือของไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกต่อไป

.

 สศอ. ในฐานะหน่วยงานเสนอแนะนโยบายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม พร้อมด้วยการขับเคลื่อนจากภาคเอกชน เล็งเห็นความพร้อมและศักยภาพที่จะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ โดยกำหนดทิศทางในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นฐานการต่อเรือและซ่อมเรือแบบครบวงจร เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในภูมิภาค อันจะเป็นผลดีในการสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงของเศรษฐกิจชาติต่อไป