เนื้อหาวันที่ : 2008-02-19 17:35:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1642 views

นักวิชาการนิด้า เตือนรัฐรับมือเศรษฐกิจโลก แนะส่งเสริมการผลิต

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นิด้า เตือนรัฐบาลใหม่รับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ระบุเป็นต้นตอปัญหาปั่นป่วนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะวิกฤตซัพไพร์มและราคาน้ำมันแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง แนะเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมภาคการผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้า ชี้ต้องทำอย่างถูกวิธีถึงได้ผลสัมฤทธิ์

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา

 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า

.

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า เตือนรัฐบาลใหม่รับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ระบุเป็นต้นตอปัญหาปั่นป่วนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะวิกฤตซัพไพร์มและราคาน้ำมันแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง แนะเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมภาคการผลิตเพิ่มมูลค่าสินค้า หนุนการท่องเที่ยวดึงรายได้ มั่นใจสร้างความแข็งแกร่งได้ ติงนโยบายประชานิยมทั้งกองทุนหมู่บ้านและพักหนี้เกษตรกร หวั่นก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน ชี้ต้องทำอย่างถูกวิธีถึงได้ผลสัมฤทธิ์

.
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ (GSPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเงินการคลัง กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจว่า หลังจากการติดตามการแถลงนโยบายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องมองปัญหาให้ออกว่าต้นตอที่แท้จริงคือเรื่องอะไร และหาทางแก้ไขให้ตรงจุด
.

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้ คือ ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพร์ม) และปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่มาจากภายนอก ขณะที่ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการค้าจากต่างประเทศถึง 65% โดยมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดการเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.

ด้วยเหตุนี้สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องคำนึงถึงประการแรก จึงอยู่ที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างมาก เช่นเดียวกับปัญหาราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่ส่งผลต่อภาคการผลิต ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นและปัญหาอัตราเงินเฟ้อตามมา นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการสูญเสียเงินตราเป็นจำนวนมาก เพราะประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 8.5 แสนบาเรลต่อวัน

.

อย่างไรก็ตาม หากจะเสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนนั้น ต้องเน้นไปที่การฟื้นฟู และสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้หายไป จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ดังนั้น รัฐบาลจะต้องสร้างบรรยากาศของการลงทุนให้เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ที่จะส่งผลต่อการจ้างงานในประเทศและต่อเนื่องไปถึงการบริโภค

.

"ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังต้องเร่งส่งเสริมภาคการผลิตและการท่องเที่ยว โดยปรับปรุงให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่มากขึ้น จากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยมักจะส่งออกส่งสินค้าหรือผลิตสินค้าที่ไม่มีมูลค่าเพิ่มมากนัก ทำให้บางครั้งได้กำไรน้อย ไม่คุ้มค่ากับการผลิตและส่งออก อย่างเช่น สินค้าทางการเกษตร ที่จะเน้นเพียงการส่งออกพืชผล โดยไม่นิยมการแปรรูป นี่เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลแถลงแล้วว่า ต้องการส่งเสริม เพื่อเพิ่มศักยภาพของการผลิตและบริการให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพราะต้องยอมรับว่า เรามีคู่แข่งมากขึ้นและคู่แข่งก็เข้มแข็งขึ้น" รศ.ดร.มนตรี กล่าว

.

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวมีมูลค่ามหาศาลถึงปีละ 5 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 8 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวก็ใช้ต้นทุนที่น้อยมาก เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวมากอยู่แล้ว และธุรกิจการท่องเที่ยวจัดเป็นธุรกิจบริการที่คนไทยมีความได้เปรียบ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องกำหนดยุทธวิธีในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งหากิจกรรมเสริมควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว เช่น สปาหรือนวดแผนไทย เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประเทศ

.

รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวถึงปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศด้วยว่า การแก้ปัญหาความยากจนต้องใช้เวลาพอสมควร แต่หากรัฐบาลจัดเป็นนโยบายเร่งด่วนได้ก็นับเป็นเรื่องที่ดี เพราะนับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา แม้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการกระจายรายได้ที่แย่ลง โดยพื้นที่ที่มีรายได้สูงๆ กระจุกอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ หรือในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น

.

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลควรเน้นการเพิ่มรายได้ และลดรายจ่ายให้ประชาชน โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพของการสร้างรายได้ พัฒนาและสร้างโอกาสของการเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) เชื่อมโยงไปถึงการส่งเสริมและการพัฒนา SME ให้มีศักยภาพในทุกๆ ด้าน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความยากจน

.

"รัฐบาลอาจมองว่า การส่งเสริมกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้เกิดธุรกรรมด้านการเงิน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาวจะต้องระวังให้การใช้เงินของกองทุนหมู่บ้านถูกนำไปใช้อย่างถูกทาง เพื่อนำไปประกอบธุรกิจ เช่นเดียวกับการพักหนี้เกษตรกร ที่ต้องเน้นการส่งเสริมให้ถูกวิธี ให้เข้าใจว่าเป็นการพัก เพื่อให้มีเม็ดเงินไปลงทุนต่อ ไม่ใช่พักแล้วไม่ต้องชำระหนี้ เพราะหากเกิดการเข้าใจผิดก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบของสถาบันทางเงินเหมือนที่ผ่านมา" รศ.ดร.มนตรีกล่าว

.

สุดท้ายเป็นเรื่องของการลงทุนในโครงการใหญ่อย่างเมกะโปรเจ็คท์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ รถไฟฟ้ารางคู่ รถไฟชานเมือง หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการพัฒนาสนามบิน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง เพราะจะก่อให้เกิดภาระหนี้สิน แต่อาจใช้วิธีการร่วมทุนกับภาคเอกชนโดยมีกฎหมายรองรับอย่างถูกต้อง โดยจะมีพระราชบัญญัติร่วมทุนที่คาดว่าจะถูกนำเสนอต่อสภาฯ ที่สามารถรองรับตรงนี้ได้