เนื้อหาวันที่ : 2008-02-18 10:39:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1762 views

ส่งออกทีวีสีระส่ำติดบ่วงเอฟทีเอ จี้พณ.เร่งเจรจาคลายกฏเหล็ก

กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ 200 รายเข้าชื่อยื่นหนังสือถึงพาณิชย์ ขอให้ทบทวนเกณฑ์แหล่ง กำเนิดสินค้า สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องฉายภาพ LCD PROJECTOR ใหม่ แทนหลัก เกณฑ์เดิมที่กำหนด Local Content 40% ล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตส่งออกระส่ำ ติดบ่วงเอฟทีเอ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุยังไม่เห็นเรื่อง แต่ยอมรับมีสินค้าไทยหลายรายการถูกปิดโอกาส

กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ 200 รายเข้าชื่อยื่นหนังสือถึงพาณิชย์ ขอให้ทบทวนเกณฑ์แหล่ง กำเนิดสินค้า สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องฉายภาพ LCD PROJECTOR ใหม่ แทนหลัก เกณฑ์เดิมที่กำหนด Local Content 40% ล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตส่งออกระส่ำ ติดบ่วงเอฟทีเอ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุยังไม่เห็นเรื่อง แต่ยอมรับมีสินค้าไทยหลายรายการถูกปิดโอกาส

.

ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อเร็วๆนี้ สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 200 ราย ได้รวมตัวยื่นหนังสือต่อนางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอให้ทบทวนเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับเครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องฉายภาพ LCD PROJECTOR พิกัด 8528.72 ให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

.

โดยขอให้พิจารณาใช้หลักเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัด 4 หลัก กล่าวคือการกำหนดเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าโดยวิธีการเปลี่ยนพิกัด หรือกำหนดเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าโดยวิธีการเปลี่ยนพิกัดบวก Local Content 20% แทนการกำหนด Local Content 40% (การใช้ชิ้นส่วนวัตถุดิบภายในประเทศ40%)ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้ ผู้ผลิต เครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องฉายภาพ LCD PROJECTORเพื่อการส่งออกประสบปัญหาไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเปิดเขตการค้าเสรี(FTA)ต่างๆได้

.

เนื่องจากแหล่งเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าในปัจจุบันกำหนดให้โทรทัศน์สีที่ผลิตในประเทศต้องมี Local Content 40% แต่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีการผลิตเปลี่ยนแปลงจากจอภาพCRT มาเป็นจอภาพLCD ซึ่งจอLCDดังกล่าวยังไม่มีการผลิตในประเทศไทยและในอาเซียน เนื่องจากการลงทุนผลิตจอLCD จะต้องใช้เงินทุนสูงมากนับแสนล้านบาท จึงต้องนำเข้ามาจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ในขณะที่นโยบายของผู้ผลิต LCD PROJECTOR ก็ต้องนำเข้าจอLCD จากต่างประเทศมาประกอบและส่งออกเช่นกัน

.

"ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องฉายภาพ LCD PROJECTOR ในประเทศไทยไม่สามารถใช้ Local Content ได้ถึง 40% เพราะวัตถุดิบหลักคือจอLCD ทั้งหมดต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้กลุ่มผู้ผลิตในประเทศไทยถูกปิดโอกาสในการส่งออก เนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเปิดเขตการค้าเสรีได้ เช่น ส่งออกโทรทัศน์สีไปอินเดีย ต้องเสียภาษีอากรขาเข้าประมาณ 10% เท่ากับประเทศนอกอาฟต้า หรือส่งออกไปอเมริกาไม่ได้รับสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อขอลดภาษีGSP อัตรา 3% ส่งผลให้ผู้ส่งออกต้องแบกภาระสูงกว่าคู่แข่ง ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง "

.

ดร.ขัติยา กล่าวย้ำว่า เวลานี้ต้องการให้รัฐบาลไปเจรจากับทุกกรอบจากที่มีนโยบายเปิดเสรีการค้าทั้งในระดับพหุภาคี เช่น กรอบWTO, อาฟต้า และระดับทวิภาคี อาทิ เขตการค้าเสรี(FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้วกับหลายประเทศระหว่างไทยกับประเทศต่างๆเช่น ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใหม่โดยใช้วิธีเปลี่ยนพิกัดแทนการพิจารณาใช้ Local Content40%

.

ปัญหานี้เริ่มมองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากที่โรงงานผลิตจอภาพCRT ที่ผลิตในนาม บริษัท ไทยซีอาร์ที จำกัด (TCRT) ในเครือเอสซีจี ผลิตหลอดภาพจอแก้วจำนวน 7 ล้านหลอด/ปี เพื่อจำหน่ายทั่วไปให้กับลูกค้าจากกลุ่มผู้ผลิตโทรทัศน์เพื่อขายในประเทศและส่งออก และบริษัท เอ็ม.ที.พิกเจอร์ ดิสเพล(ประเทศไทย)จำกัด หรือMTPDT จากกลุ่มมัตสุชิตะซึ่งมีขนาดกำลังผลิตหลอดภาพทีวีประมาณ4-5 ล้านหลอด/ปี เพื่อการส่งออกทั้งหมด ภายใต้แบร์นด "พานาโซนิก"และ"โตชิบา" ต่างทยอย ปิดกิจการลงในช่วง ปี 2548-2550 ทำผู้ผลิตโทรทัศน์สีต้องปรับเทคโนโลยีการผลิตใหม่

.

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายหนึ่งกล่าวว่า ในช่วง4-5ปีที่ผ่านมา การปรับตัวของตลาดหลอดภาพทีวีเคลื่อนไหวเร็วและแรงมาก ขณะที่การปรับตัวของกลุ่มผู้ผลิตหลอดภาพจอCRTตามไม่ทัน และต่างก็รู้ตัวล่วงหน้าว่าตลาดจอภาพCRT กำลังจะหมดไป ซึ่งสัญญาณนี้เห็นชัดว่าตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเลิกผลิตไปก่อนหน้านี้นานแล้ว

.
ต่อเรื่องนี้นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นหนังสือที่กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จากส.อ.ท. ยื่นเข้ามา พร้อมกับยอมรับว่ายังมีสินค้าไทยหลายรายการไม่เข้าข่ายเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า เพราะทำไม่ได้ตามกรอบ Local Content 40% ไม่ใช่เฉพาะเครื่องรับโทรทัศน์สีเท่านั้น เนื่องจากประเทศไทยไม่มีวัตถุดิบ และมีหลายรายการที่ยังต้องนำเข้ามา ในขณะที่ข้อตกลงตามกรอบการค้าต่างๆในแต่ละสัญญาก็วิธีกำหนดที่แตกต่างกัน และก็จะมีกฎย่อยลงไปอีก ฉะนั้นการเจรจาแหล่งกำเนิดสินค้าถ้ามีเรื่องอะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องไปเจรจากัน
.

อนึ่ง ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตผู้ผลิต เครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องฉายภาพ LCD PROJECTORอันดับต้นๆของโลกโดยเฉพาะการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์สี ซึ่งมีทั้งผู้ผลิตเพื่อการส่งออกทางตรงและทางอ้อม และในลักษณะโออีเอ็ม โดยส่วนใหญ่จะเป็นทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย เช่น แบรนด์ เจวีซี, โซนี, ฟูไน, ทีซีแอล, แอลจี ,ซัมซุงและ พานาโซนิก โดยในประเทศไทยมีขนาดกำลังผลิตเครื่องรับโทรทัศน์สีประมาณ 14 ล้านเครื่อง/ปี ในจำนวนนี้แบ่งเป็นสัดส่วนส่งออกประมาณ 12 ล้านเครื่อง/ปี และประมาณ 2 ล้านเครื่องผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ