เนื้อหาวันที่ : 2008-02-14 08:25:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1286 views

สศอ.ชี้เดินหน้าเมกะโปรเจกต์ หนุนอุตสาหกรรมเหล็กปี 50 ขยายตัว

สศอ.คาดอุตฯเหล็กปี 2550 ไม่หวือหวา เหล็กทรงยาวขยายตัวได้ไม่มาก ชี้ยังรอเมกะโปรเจกต์ ขณะที่ทรงแบน ยังเกาะติดทิศทางอุตฯยานยนต์ที่ขยายตัวหาก สามารถเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ได้จะเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ส่งผลต่ออัตราการขยายตัว

สศอ.คาดอุตฯเหล็กปี 2550 ไม่หวือหวา เหล็กทรงยาวขยายตัวได้ไม่มาก ชี้ยังรอเมกะโปรเจกต์ ขณะที่ทรงแบน ยังเกาะติดทิศทางอุตฯยานยนต์ที่ขยายตัวหาก สามารถเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ได้จะเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ส่งผลต่ออัตราการขยายตัว

.

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็ก ในปี 2549 และคาดการณ์แนวโน้มสำหรับปี 2550 พบว่า แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในปี 2550 เมื่อเทียบกับปี 2549 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อย 

.

โดยในส่วนของการผลิตและการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นผลมาจากความต้องการใช้เพื่อการบูรณะและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน หลังจากประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ อย่างไรก็ตามหากปี 2550 สามารถเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ได้จะเป็นแรงสนับสนุนหลักที่ส่งผลต่ออัตราการขยายตัว

.

สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้น ตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ในส่วนของการส่งออก คาดการณ์ว่าจะลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กที่สำคัญเริ่มอิ่มตัว ประกอบกับตลาดในกลุ่มประเทศ EU ที่เริ่มชะลอตัวลง และจากการที่ประเทศจีนประสบปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ จึงต้องส่งออกสินค้าเหล็กไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งสาเหตุดังกล่าวทำให้การส่งออกโดยรวมในปี 2550 มีแนวโน้มลดลง

.

สำหรับการที่ประเทศจีนได้ประกาศจัดเก็บภาษีส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ  10 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งประกาศดังกล่าวนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตของโรงงานเหล็กชนิดที่ไม่มีเตาหลอม ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เช่น เหล็กแท่งแบน (Slab) และเหล็กแท่งเล็ก (Billet) จากประเทศจีน และจะส่งผลทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น  

.

ดร.อรรชกา กล่าวว่า สถานการณ์เหล็กโดยรวม ปี 2549  ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2548  เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง  ตลอดจนปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้ภาวะการค้าโดยรวมในประเทศชะลอตัวลง  ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตลง และสต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณที่ไม่มาก  ขณะเดียวกันพ่อค้าคนกลางก็สต๊อกสินค้าไว้ในปริมาณเท่าที่จำเป็น

.

โดยเหล็กทรงแบน การผลิตขยายตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.63 แต่การใช้ในประเทศกลับลดลงร้อยละ 12.03 ผู้ผลิตจึงต้องขยายตลาดไปยังต่างประเทศที่ยังคงมีความต้องการอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนเหล็กทรงยาว ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีการผลิตและการใช้ในประเทศชะลอตัวถึง ร้อยละ  12.09 และ 12.84 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าโดยรวมลดลงถึงร้อยละ  19.23 และ  14.64

.

โดยเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลงร้อยละ 46.94 รองลงมาคือเหล็กแท่งแบน ลดลงร้อยละ 46.88  และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 37.32สำหรับการส่งออกโดยรวมขยายตัวขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณ ร้อยละ  1.73 และ 4.48   ตามลำดับ  โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ  1,044.52 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นไม่ได้เคลือบดีบุกและเหล็กเส้น เพิ่มขึ้น 575.93 และ 123.93 

.

นอกจากนี้ ดร.อรรชกา ยังได้กล่าวว่า จากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศ(International Iron & Steel Institute) ได้จัดอันดับตำแหน่งผู้ผลิตเหล็กดิบรายใหญ่ของโลก โดยเรียงตามลำดับ 10 ลำดับ  คือ  จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ เยอรมนี อินเดีย ยูเครน อิตาลี บราซิล  และพบว่า ประเทศอินเดียได้เลื่อนตำแหน่งผู้ผลิตเหล็กดิบรายใหญ่ของโลกจากลำดับที่ 8 มาลำดับที่ 7 ในขณะที่บราซิลตกมาอยู่อันดับที่ 10 โดยเป็นผลมาจากการหยุดใช้เตา Blast Furnace ในโรงงานของบริษัท CSN’s Volta Redonda   เป็นเวลา 5 เดือน