เนื้อหาวันที่ : 2008-02-12 14:39:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2373 views

ปภ. ออกโรงเตือนอันตรายผู้ขับขี่รถยนต์ระวังเบรกแตก เบรกค้าง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ขับรถระมัดระวังอันตรายจากเบรกแตก เบรกค้าง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ หากเบรกค้างให้เหยียบแป้นเบรกย้ำ ๆ สลับกันหลาย ๆครั้ง ช่วยได้กรณีเบรกแตก

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตือนผู้ขับรถระมัดระวังอันตรายจากเบรกแตก เบรกค้าง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ หากเบรกค้างให้เหยียบแป้นเบรกย้ำๆ สลับกันหลายๆครั้ง จะช่วยให้เบรกใช้การได้ดังเดิม กรณีเบรกแตก แก้ไขโดยการย้ำเบรกแรงๆบ่อยๆ จะทำให้เบรกมีกำลังดีขึ้น ที่สำคัญ ผู้ใช้รถควรดูแลถ่ายน้ำมันเบรก และเปลี่ยนผ้าเบรกตามระยะเวลาที่คู่มือกำหนด หากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับระบบเบรก ควรนำรถไปตวรจสอบสภาพระบบเบรกในทันที 

.

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า อุบัติเหตุจากรถยนต์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายมากที่สุด ก็คือ อุบัติเหตุจากระบบเบรกไม่สมบูรณ์ มักเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ดังนี้ เบรกค้างและเบรกแตก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยหากผู้ขับขี่ต้องประสบกับกรณีใดกรณีหนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้นในขณะที่ประสบกับเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว

.

ดังนี้ กรณีเบรกค้าง มักเกิดในลักษณะเหยียบแป้นเบรกลงไปแล้วแป้นเบรกไม่ยอมถอยกลับคืนและค้างอยู่ หากเกิดในขณะที่ขับขี่รถด้วยความเร็วสูงจะก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้น เพราะรถอาจเสียการทรงตัวจนพลิกคว่ำได้ กรณีเกิดในขณะที่ผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่มาก หากถอนเท้าออกจากแป้นเบรกแล้วยังรู้สึกว่ารถอืดหรือช้าลงทั้งๆที่รอบเครื่องยนต์ยังวิ่งปกติให้สันนิษฐานว่าเบรกค้าง

.

พยายามเหยียบย้ำแป้นเบรกสลับกันหลายๆครั้ง เบรกอาจใช้การได้ดังเดิม กรณีเบรกแตกซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก ให้แก้ไขโดยการย้ำเบรกแรงๆบ่อยๆ จะทำให้เบรกมีกำลังดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้ใช้เบรกมือช่วยและต้องกดปุ่มล็อกไว้ตลอดเวลา โดยเกร็งข้อมือให้แน่นแล้วพยายามดึงขึ้นลงถี่ๆ เป็นระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เบรกมือเกิดเสียงดังหรือสึกหรออย่างรุนแรง เพราะเบรกมือส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาไว้สำหรับป้องกันการไหลของรถขณะจอด ในกรณีที่

.

เบรกมือใช้การไม่ได้ ให้พยายามลดความเร็วลงโดยการปรับเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำ แล้วนำรถเข้าจอดข้างทาง เพื่อรอการช่วยเหลือต่อไป ทั้ง 2 กรณีเป็นการแก้ไขสถานการณ์เบื้องต้นขณะที่ประสบเหตุ แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ผู้ขับรถควรดูแลถ่ายน้ำมันเบรก และเปลี่ยนผ้าเบรกตามระยะเวลาที่คู่มือกำหนด ที่สำคัญหากผู้ขับรถพบความผิดปกติในขณะขับรถ

.

เช่นขณะเหยียบเบรกแล้วแป้นเบรกไม่มีแรงหรือแป้นเบรกเหยียบไม่ลง ควรรีบนำรถไปตรวจสอบสภาพเบรกในทันที เพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุเบรกแตก เบรกค้างที่อาจเกิดขึ้นได้ สุดท้ายนี้ หากประชาชนประสบอุบัติภัยหรือต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งเหตุให้ทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด24 ชั่วโมง เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือ