เนื้อหาวันที่ : 2008-02-04 09:54:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1287 views

ส.อ.ท.จับมือสสว.สร้างผู้ประกอบการต้นแบบเพื่อธุรกิจ SME อนาคต

พัฒนาผู้ประกอบการผลิตไทยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 37 กลุ่มอุตสาหกรรมเติมเต็มความสามารถที่ขาดหายของผู้ประกอบการเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้จริงกับการดำเนินงานของตน

.

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้มีการแถลงข่าวความสำเร็จปิดโครงการ เติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิตขึ้น นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวถึงโครงการที่ส.อ.ท.ได้ร่วมมือกับ สสว. จัดทำโครงการเติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน-SMEs Project ว่า โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550

.

และสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2550 (รวมระยะเวลา10 เดือน) ได้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตไทยจำนวน 44 รายจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งหมด 37 กลุ่มอุตสาหกรรมให้ได้รับการเติมเต็มความสามารถที่ขาดหาย ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้และหลักการจากหลักสูตรอบรมที่ได้รับไปประยุกต์ใช้จริงกับการดำเนินงานของตน มีผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมSMEs และคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาเฝ้าติดตามประเมินศักยภาพและให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด

.

โดยประเมินผลสำเร็จที่สถานประกอบการจะได้รับหลังการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เป็นจำนวนเงิน 22,298,000 บาท และประมาณการรายได้ที่สถานประกอบการจะได้รับหลังจากดำเนินโครงการ Self Project อีกเป็นจำนวนเงิน 23,980,296.72 บาท สามารถพัฒนาแบบอย่างความสำเร็จที่ดีหรือ Role Model ให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมใช้ยึดถือปฏิบัติต่อไป

.

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (SMEs Project) ซึ่งสสว.ได้ร่วมกับ ส.อ.ท.โดยโครงการเติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิต ถือเป็นส่วนหนึ่งของ 6 กิจกรรมหลักภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ระดับจังหวัดและภูมิภาค

.

ผอ.สสว. ระบุอีกว่า โครงการเติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิตมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตไทยใน 37 กลุ่มอุตสาหกรรม จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ให้สามารถเติมเต็มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีคุณภาพ และทักษะความสามารถในการบริหารจัดการ สามารถวิเคราะห์และพัฒนาตนเองให้ทันการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมุ่งให้ตระหนักถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีหรือ Role Model ให้กับผู้ประกอบการผลิตแต่ละภาคอุตสาหกรรมยึดถือปฏิบัติต่อไป

.

"โครงการดังกล่าว ได้นำพาความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 44 ราย ดังเห็นผลในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายสินค้าคงคลัง ลดของเสีย ลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงาน ตามที่ได้ประมาณเป็นมูลค่าซึ่งได้กล่าวในรายงานข้างต้น โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นความแรงร่วมใจจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ คณะที่ปรึกษา และทีมงานโครงการ ตลอดจนผู้ประกอบการSMEsเองทุกท่าน ที่มีความตั้งใจจริง มุ่งมั่น และให้การร่วมมือจนกระทั่งเริ่มสามารถเห็นผลสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น" นางจิตราภรณ์ กล่าว

.

สำหรับรูปแบบโครงการได้มีการจัดอบรมหลักสูตร และจัดผู้เชี่ยวชาญช่วยติดตามให้คำปรึกษา ให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปใช้ปรับปรุงการผลิต การวิจัยพัฒนา การเงินการบัญชี การบริหารงาน การบริหารทรัพยากรบุคคล และความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมุ่งเน้นความสามารถในการวิเคราะห์ตนเอง วิเคราะห์สภาพแวดล้อมการแข่งขันให้สามารถปรับตัวได้ สร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน หลักสูตรที่มีการจัดฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการ ได้แก่หลักสูตร หลักสูตรวิเคราะห์โลจิสติกส์และต้นทุนการเพิ่มผลิตผล (Logistics Mapping, Productivity Costing)

.

เพื่อสามารถวิเคราะห์ต้นทุนทางโลจิสติกส์ครบทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตร Q-Mark เพื่อการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และได้รับตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพ หลักสูตรต้นทุนทั่วไป (General Costing) เพื่อเข้าใจในเรื่องต้นทุนทั่วไป และสามารถนำมาปรับปรุงใช้ ในการดำเนินธุรกิจได้ หลักสูตรการวางแผนธุรกิจ (Business Plan) เพื่อให้เข้าใจวิธีการวางแผนธุรกิจ และสามารถนำเสนอแผนเพื่อขอการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสถาบันการเงิน

.

นายสมชาย เอื้อเกษมสิน ผู้อำนวยการโครงการเติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิต กล่าวถึงผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการว่า จากการที่ได้มีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด ทำให้โครงการเติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิตเกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในหลายๆด้าน ได้แก่หลักสูตรการฝึกอบรมLogistic Mapping พบว่าผู้ประกอบการมีการจัดทำโครงร่างระบบโลจิสติกส์ตาม Model และข้อมูล Productivity Costing

.

ทำให้ทราบข้อมูลและสามารถนำไปใช้ในการบริหารการจัดการภายในองค์กร การติดต่อสื่อสารภายในองค์กร การพยากรณ์ การจัดการขนส่ง การวางแผนการผลิต การจัดการวัสดุคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้บางสถานประกอบการได้นำเรื่อง Logistic Mapping ไปต่อยอดอีกด้วย โดยประเมินประมาณรายได้ที่สถานประกอบการจะได้รับหลังจากการสำเร็จกิจกรรม Logistic Mapping เป็นจำนวน 22,298,000 บาท

.

นอกจากนี้หลักสูตรการอบรม Q-Mark พบว่าทุกผู้ประกอบการมีการปรับปรุงระบบการทำงานและการจัดการภายในโรงงานตามแนวปฏิบัติและข้อกำหนด เพื่อให้ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน ซึ่งผลการตรวจสอบประเมินมาตรฐานโดยการแบ่งตามหมวด4หมวดพบว่าหมวดที่1 ผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์จำนวน 30 สถานประกอบการ (75%) หมวดที่ 2 กระบวนการจัดทำผลิตภัณฑ์ (Product Realization) ผ่านเกณฑ์จำนวน 27 สถานประกอบการ (75%)

.
หมวดที่ 3 หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ผ่านเกณฑ์ จำนวน 26 สถานประกอบการ (75%) หมวดที่ 4 สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (Environment and Energy) ผ่านเกณฑ์ จำนวน 16 สถานประกอบการ (75%) และมีสถานประกอบการที่ได้รับการอนุมัติใช้ตราสัญลักษณ์ Q-Mark แล้ว มีจำนวน 20 บริษัท
.

"นับเป็นครั้งแรกที่มีการผลักดันผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางให้ได้รับการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ใช้ตราสัญลักษณ์รับรองผลิตภัณฑ์ Q-Mark ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการ SMEs ได้เป็นอย่างดี เพราะเดิมมีแต่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายใหญ่เท่านั้นที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ Q-Mark ในผลิตภัณฑ์ของตนเอง ทั้งนี้ถือเป็นการวางรากฐานสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ประกอบการทุกระดับที่ต้องคำนึงถึง การรักษาคุณภาพ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม"

.

ผอ.โครงการเติมเต็มขีดความสามารถผู้ประกอบการผลิต กล่าวอีกว่า คณะกรรมการโครงการได้คัดเลือก บจก. ทัชวัน ให้เป็นผู้ประกอบการดีเด่นด้านภาพรวม และ ด้าน Logistics Mapping & Productivity Costing บจก. น้ำพองซีดแล็ค ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการดีเด่นด้าน General Costing และ บจก.เน็กซ์โปรดักส์ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการดีเด่นด้านจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ Q-Mark.

.

โดยในส่วนที่โครงการได้จัดงบประมาณสนับสนุนการผู้ประกอบการที่เสนอแผนโครงการ Self Project ในวงเงินค่าใช้จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท/โรงงาน เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานด้านการผลิตที่เป็นประโยชน์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น มีโครงการที่ได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนคิดเป็นเงินจำนวน 3,839,680 บาท และสามารถประมาณการรายได้ที่สถานประกอบการจะได้รับหลังจากดำเนินโครงการ Self Project เป็นเงิน 23,980,296.72 บาทหรือประมาณ 6.25 เท่า

.

นายพยุงศักดิ์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า จากผลสำเร็จของโครงการ ทำให้SMEsในประเทศมีตัวอย่างโมเดลของความสำเร็จที่จะใช้เป็นแบบอย่างที่ดีและช่วยสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบการSMEsทั้งหลาย ในการต่อสู้กับอุปสรรคต่อไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆทางเศรษฐกิจในประเทศ และจากความสำเร็จดังกล่าวนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็พร้อมที่จะจับมือสานต่อกับทาง สสว.ดำเนินโครงการดีๆ ในลักษณะนี้ต่อไป เพื่อช่วยกันส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ทั้งเวทีในประเทศและต่างประเทศ