เนื้อหาวันที่ : 2008-01-25 11:36:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2099 views

5 ข้อแนะนำเพื่อช่วย ลดความเสี่ยงจากการช้อปปิ้งออนไลน์

หลายคนคงกำลังเริ่มมองหาของขวัญชิ้นสำคัญให้กับบุคคลใกล้ชิด และอาจเลือกวิธีซื้อของที่ถูกใจผ่านทางออนไลน์เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดเวลา

ช่วงเทศกาลแห่งการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะตรุษจีนและวาเลนไทนส์ กำลังใกล้เข้ามา หลายคนคงกำลังเริ่มมองหาของขวัญชิ้นสำคัญให้กับบุคคลใกล้ชิด และอาจเลือกวิธีซื้อของที่ถูกใจผ่านทางออนไลน์เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดเวลา อย่างไรก็ตาม เรื่องความปลอดภัยในการซื้อของผ่านทางออนไลน์ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอยู่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไอบีเอ็มขอเสนอข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับนักช๊อปออนไลน์ ในช่วงเทศกาลสำคัญที่กำลังจะมาถึง ดังต่อไปนี้

.

ข้อแนะนำ 5 ประการเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการช้อปปิ้งออนไลน์

.

1. ถึงแม้จะมีรูปกุญแจปรากฏที่ด้านล่างของบราวเซอร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย

สำหรับการเข้าหน้าเว็บไซท์ที่ต้องใส่ชื่อ ข้อมูลส่วนตัวรวมทั้งข้อมูลบัตรเครดิตของคุณ ขอให้แน่ใจว่า URL address ในหน้านั้น ต้องทำผ่าน หรือเป็น address ที่ขึ้นต้นด้วย https เท่านั้นในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของเว็บไซท์นั้น ๆ ท่านสามารถดับเบิ้ลคลิกที่ไอคอนรูปกุญแจที่ด้านล่างของบราวเซอร์เพื่อดูว่าเว็บไซท์นั้น ๆ มีรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศนียบัตรทางด้านความปลอดภัย (Security Certificate) หรือไม่ และประกาศนียบัตรนั้นเป็นของเว็บไซท์นั้นจริงหรือเปล่า

.

2. ไม่ใช้บัตรเดบิต ในการซื้อของผ่านทางออนไลน์

ในการซื้อของผ่านทางออนไลน์ การใช้บัตรเครดิตจะมีข้อได้เปรียบกว่าการใช้บัตรเดบิตตรงที่เจ้าของบัตรสามารถร้องเรียนกับทางธนาคารเจ้าของบัตรได้ ในกรณีที่พบรายการผิดปกติในใบแจ้งยอดประจำเดือนนั้น และสามารถจัดการกับรายการผิดปกตินั้น ก่อนการชำระยอดค้างประจำเดือน ในขณะที่เมื่อใช้บัตรเดบิต การทำธุรกรรมใด ๆ ก็ตามจะเป็นการหักเงินออกจากบัญชีทันที ซึ่งการร้องเรียนกับธนาคารเจ้าของบัตร ในกรณีที่มีการพบรายการผิดปกติ จะทำได้ยากกว่า

.
3. อย่าคลิก link ที่มากับอีเมล์ ที่ดูเหมือนว่าจะส่งมาจากร้านค้าออนไลน์

ในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญ ท่านอาจได้รับอีเมล์มากมายที่ชักชวนให้จับจ่ายซื้อของผ่านทางเว็บไซท์ต่าง ๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ท่านจะทราบได้อย่างไรว่า อีเมล์นั้นส่งมาจากร้านค้าที่มีตัวตนจริง หรือเป็นอีเมล์ปลอมกันแน่   ดังนั้น หากท่านต้องการเข้าเว็บไซท์ จาก link ที่แนบมากับอีเมล์ ขอแนะนำให้เปิดบราวเซอร์ขึ้นมาใหม่ และเอา URL address นั้นมาพิมพ์ที่ช่องใส่ URL ด้วยตัวเอง แต่ในกรณีที่ URL address ยาวมาก และท่านไม่มีเวลา อาจใช้วิธีพิมพ์โดเมนเนมของเว็บไซท์นั้น และคลิก link ที่ท่านต้องการจะเข้าจากหน้า Home ของเว็บไซท์นั้น ๆ แทน

.
4. ถ้าท่านเริ่มไม่ไว้ใจเว็บไซท์นั้น หรือเริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลกับข้อเสนอที่ให้มา ให้เปลี่ยนไปเข้าเว็บอื่นแทน

ในกรณีที่ท่านเข้าเว็บไซท์ช็อปปิ้งบางเว็บไซท์ แล้วเริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลของข้อเสนอที่เว็บไซท์นั้นมอบให้ ขอเสนอแนะว่าให้เปลี่ยนไปเข้าเว็บไซท์อื่นแทนจะดีกว่า เพราะท่านอาจจะถูกหลอกกับข้อเสนอที่ดีเกินความเป็นจริงหรือโดนเว็บนั้นแอบทำมิดีมิร้าย เช่น แอบเอา malware มาลงกับเครื่องของท่านผ่านทางบราวเซอร์ โดยที่ท่านไม่รู้ตัว ก็เป็นได้

.
5. ระมัดระวังการให้ข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับการจ่ายเงิน

โดยปกติ ข้อมูลที่เว็บไซท์ช้อปปิ้งทั่วไปต้องการจากท่าน ก็จะเป็นแค่ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ที่จะจัดส่งใบแจ้งหนี้ หมายเลขบัตรเครดิต วันหมดอายุของบัตร และ โค้ด CCV2 ด้านหลังบัตร นอกจากนี้ บางเว็บไซท์อาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เช่น อีเมล์แอดเดรส หรือ เบอร์โทรศัพท์ของท่านเพื่อเพิ่มความสะดวกในการจัดส่งของ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ท่านจะให้ข้อมูลดังกล่าว ควรตรวจสอบในเงื่อนไขว่าเว็บไซท์นั้นจะเก็บข้อมูลส่วนตัวของท่านเป็นความลับหรือไม่

.

นอกจากข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ท่านต้องให้ข้อมูลอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นรหัสส่วนตัวของบัตร (PIN) หรือ ข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ของท่าน เพราะเว็บไซท์ที่ทำธุรกิจอย่างถูกต้อง จะไม่ถามข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ หากท่านพบเว็บไซท์ต่าง ๆ ที่ถามข้อมูลเกินพอดีเหล่านี้ ให้หยุดการทำธุรกรรมกับเว็บไซท์นั้นทันที และแจ้งธนาคารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ