เนื้อหาวันที่ : 2008-01-23 09:24:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1430 views

โอไอดึงรัฐ-เอกชนร่วมหนุนคนไทยลงทุนด้านไบโอเทค

บีโอไอเร่งผลักดันนักลงทุนไทยหันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจะชี้ช่องทางให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตร อาหาร ยา สิ่งแวดล้อม ต่อยอดธุรกิจไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพ

บีโอไอเร่งผลักดันนักลงทุนไทยหันมาลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยจะชี้ช่องทางให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตร อาหาร ยา สิ่งแวดล้อม ต่อยอดธุรกิจไปสู่เทคโนโลยีชีวภาพ หวังงานสัมมนาใหญ่ 1 ก.พ. 51 ช่วยแนะธุรกิจไทยทั้งเรื่องแหล่งเงินทุน การระดมทุน การบริหารจัดการ การวิจัยและพัฒนา และการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

 .

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ เกือบทุกประเทศทั่วโลกต่างประกาศชัดเจนให้เป็นยุทธศาสตร์เป้าหมายของประเทศ ซึ่งบีโอไอจัดให้ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่นกัน โดยได้ประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่มาตั้งแต่ต้นปี 2550

 .

"ช่วงที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพจากต่างประเทศแสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนบ้าง แต่ยังไม่มีผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุน ส่วนผู้ประกอบการไทยยังไม่มีความสนใจในเรื่องนี้ ดังนั้น บีโอไอจึงต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ยา และสิ่งแวดล้อม มีโอกาสในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โดยนำความได้เปรียบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ และภูมิปัญญาทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพของคนไทย มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ" เลขาธิการบีโอไอกล่าว

 .

ทั้งนี้ บีโอไอได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) จัดการประชุม "การส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ" ขึ้น ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อสร้างโอกาสและช่องทางในการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพอย่างเต็มที่ โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง มาให้ความรู้เรื่องเพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ อาทิ แหล่งเงินทุน การระดมทุน การบริหารจัดการ การวิจัยและพัฒนา ช่องทางการตลาด และการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากบีโอไอ

 .

ด้านนายศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพมาก จากการเข้าร่วมงาน BIO 2006 และ BIO 2007 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 20,000 คน หรือแม้แต่งาน BioAsia 2007 ที่สวทช.เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน มีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 3,000 คน จาก 30 ประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการลงทุนด้านธุรกิจชีวภาพ โดยเฉพาะสาขาการเกษตรและการแพทย์

 .

ด้านน.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้จะส่งผลดีต่อนักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม ได้เข้าใจและเห็นแนวทางในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพไปประยุกต์ใช้ และต่อยอดเพื่อให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมเติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

 .

ทั้งนี้ในปี 2549 ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพทำรายได้มากกว่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการลงทุนจำนวนมากเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนมองเห็นผลกำไรที่สูงจากการทำธุรกิจดังกล่าวนี้ ในอนาคต