เนื้อหาวันที่ : 2008-01-14 09:05:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1126 views

บีโอไอไม่กังวลผลสำรวจ ดิ อีโคโนมิสต์ ชูตัวเลขเอฟดีไอ 5 แสนล้าน

บีโอไอ ไม่กังวลผลสำรวจและการจัดอันดับของ "ดิ อีโคโนมิสต์" ชี้ไทยมีความเสี่ยงทางการเมืองต่อการลงทุนสูงมาก การลงทุนจากต่างประเทศปี 50 สูงกว่า 5 แสนล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 63 สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อไทย

บีโอไอ ไม่กังวลผลสำรวจและการจัดอันดับของ "ดิ อีโคโนมิสต์" ให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงทางการเมืองต่อการลงทุนสูงมาก ชูการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศปี 50 สูงกว่า 5 แสนล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ 63 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย

.

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงผลการสำรวจและการจัดอันดับของนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ซึ่งจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเมืองต่อการลงทุนสูงมาก ว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยนั้น สามารถพิจารณาได้จากการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) 846 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 502,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในปี 2549

.

"แม้ว่าความไม่ชัดเจนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จะสร้างความกังวลแก่นักลงทุนบ้าง แต่ก็ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ที่รู้จักประเทศไทยรู้ดีว่า ประเทศไทยเคยผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง และทุกครั้งก็ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทั้งต่อนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนไทย" เลขาธิการบีโอไอกล่าว

.

นอกจากนี้ ยังมีผลการจัดอันดับอื่นๆ ที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ โดยสถาบันที่เชื่อถือของโลก เช่น การจัดอันดับประเทศน่าลงทุนของอังค์ถัด ซึ่งจัดให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนอันดับที่ 5 รองจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินเดีย ตามด้วยรายงาน "Ease of Doing Business 2008" ของธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้จัดให้ประเทศไทยมีความสะดวกในการประกอบธุรกิจเป็นอันดับที่ 15 จาก 178 ประเทศทั่วโลก เลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 18 ในปีที่ผ่านมา

.

สำหรับอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติขอรับส่งเสริมมากที่สุดคือ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและเครื่องจักร 153,531 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 124,805 ล้านบาท อันดับ 3 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 100,010ล้านบาท อันดับ 4 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า 78,985 ล้านบาท

.

ส่วนประเทศที่ลงทุนในไทยมากที่สุดยังคงเป็นญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 330 โครงการ มูลค่า 149,071 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับมูลค่าในปี 2549 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 110,476 ล้านบาท รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเงินลงทุน 85,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 131 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 37,059 ล้านบาท ตามด้วยกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป 74,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 142 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 30,532 ล้านบาท