เนื้อหาวันที่ : 2008-01-07 10:37:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1214 views

กบข. เผยกลยุทธ์การลงทุนปี 51 บุกต่างประเทศ-ลงทุนหลากหลาย กระจายความเสี่ยง

กบข. เตรียมจัดทัพการลงทุนปี 51 บุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น พร้อมกระจายการลงทุนให้หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบปัญหาซับไพรม์ ตลาดหุ้นยังคงสัดส่วนไว้ที่ 12%

กบข. เตรียมจัดทัพการลงทุนปี 51 บุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น พร้อมกระจายการลงทุนให้หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยงและป้องกันผลกระทบปัญหาซับไพรม์ ขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศยังคงสัดส่วนไว้ที่ 12% ลดระยะเวลาการถือครองตราสารหนี้ รับมือแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

.

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยถึงการจัดเตรียมแผนกลยุทธ์การลงทุนตลอดปี 2551 ว่า กบข.ยังคงให้ความสำคัญกับรูปแบบการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ โดยยังคงเน้นที่การจัดสรรการลงทุนระยะยาว ( Strategic Asset Allocation: SAA ) เป็นสำคัญ เน้นกระจายการลงทุนที่มีความหลากหลาย และกระจายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยง

.

สำหรับการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนในส่วนของตราสารทุนในประเทศ กบข. จะยังคงสัดส่วนไว้ที่ 12% ของเงินกองทุน โดยเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี มีการเลือก Industry และ Stock อย่างระมัดระวัง ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ นายวิสิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มดอกเบี้ยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น กบข.จึงมีนโยบายลดระยะเวลาการถือครองตราสารหนี้ลง โดยลดสัดส่วนการถือครองพันธบัตรระยะยาว และหันมาถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นอายุ 3-4 ปี เพื่อให้ผลักดันผลตอบแทนให้สูงขึ้น

.

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ กบข.ได้เตรียมแผนที่จะเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารทุนโลก เพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นเอเชีย เพราะมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นไทย รวมทั้งคาดการณ์ว่าตลาดการเงินภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลกระทบจากปัญหา ซับไพร์มน้อยกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อนั้น ก็ได้มีการเตรียมการที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมั่นคงในระยะยาว

.

นายวิสิฐกล่าวเพิ่มเติมว่า "จากสถานการณ์ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า การลงทุนในปีนี้มีความเสี่ยงที่ท้าทายทั้งปัจจัยภายในและภายนอก โดยในส่วนของปัญหาซับไพรม์ เชื่อว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้มีอัตราการขยายตัวชะลอลง และทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่น"