เนื้อหาวันที่ : 2020-01-07 18:57:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1729 views

มจธ.ลงนามความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล

เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีพิธีลงนามความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนาระหว่างพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สังคมและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยได้รับการประกาศจากยูเนสโกเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และเป็นอุทยานธรณีโลกลำดับที่ 36 ของโลก และเป็นแหล่งที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่าความร่วมมือกันของอุทยานธรณีโลกสตูล และ มจธ.ในครั้งนี้ อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา จะได้นำความรู้ความสามารถทางวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมมือกับบุคลากรของอุทยานธรณีโลกสตูล รวมถึงชุมชนในพื้นที่ พัฒนางานวิจัยและวิชาการ รวมถึงด้านชุมชนและสังคม ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยการเพิ่มศักยภาพของบุคลากร วิทยากร มัคคุเทศก์และชุมชน และพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาสู่การพึ่งพาตนเองและจัดการตนเองได้มากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลกสตูล กล่าวว่า อุทยานต้องการให้ทาง มจธ. ทำวิจัยในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลในหลายด้าน เช่น ด้านทรัพยากร ระบบนิเวศ ด้านโบราณคดี เมืองเก่า ด้านประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ด้านการศึกษา ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชุมชนในพื้นที่เพื่อที่จะยกระดับมาตรฐานคุณภาพในผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์เกณฑ์การประเมินอุทยานธรณีโลกในปี พ.ศ.2564 รวมทั้งเพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม Asia Pacific Geoparks Network (APGN 2021) ในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

พื้นที่อุทยานธรณีโลกครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสตูล ได้แก่ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมืองบางส่วน มีลักษณะภูมิประเทศโดดเด่นเป็นเทือกเขาหินปูน และทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย เช่น ถ้ำ น้ำตก เกาะและชายหาดที่สวยงาม อีกทั้งยังมีแหล่งวัฒนธรรม โบราณคดี การท่องเที่ยว และวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานของอุทยานธรณีโลกนั้นมีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อีกทั้งยังสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่นและเกิดความหวงแหน อันจะส่งผลให้เกิดการจัดการที่ยั่งยืนต่อไป