เนื้อหาวันที่ : 2007-12-21 15:27:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 668 views

SAMART ลุยตลาดเทคโนโลยีนิวเคลียร์

จับมือ สทน.ร่วมกันเรียนรู้ และพัฒนาในการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆที่มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อาทิเช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมด้านอาหาร และอุตสาหกรรมด้านอัญมณี

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัทสามารถในการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมเทคโนโลยีรอบด้าน ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม บริษัทฯ จึงได้ศึกษาและวางแผนที่จะเข้าสู่ธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ดังนั้นการเซ็นสัญญาด้านการร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ระหว่างบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของภาคเอกชนที่ร่วมมือกับภาครัฐอย่างเป็นทางการ ภายใต้ความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมด้านการส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ สามารถในการในเข้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์
a
 สำหรับแนวทางการร่วมมือกันในครั้งนี้ ในส่วนของสทน.จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนทางด้านวิชาการ ด้านเทคโนโลยี และด้านการพัฒนาบุคคลากร ให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในส่วนของบริษัทฯ จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ พร้อมให้คำปรึกษาและความรู้ด้านธุรกิจ การลงทุน การตลาด ในการวางแผนในแต่ละโครงการที่ตกลงร่วมกันเพื่อการลงทุน ร่วมลงทุน หรือนำไปใช้ในเชิงสาธารณประโยชน์และเชิงพาณิชย์ โดยมีขอบเขตโครงการที่จะร่วมมือกัน ได้แก่ โครงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมด้านอาหาร อุตสาหกรรมด้านอัญมณี และในอุตสาหกรรมอื่นๆตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
a
นายวัฒน์ชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อม เพื่อสร้างคนให้มีความรู้ทั้งในเรื่องเทคนิคและเทคโนโลยี โดยจะเริ่มต้นที่ธุรกิจการฉายรังสัในเครื่องมือแพทย์เป็นอันดับแรก เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง อีกทั้งบริษัทฯมีความพร้อมแล้วทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคคลากรที่มีความรู้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างโรงงานประมาณ 450 ล้านบาท พร้อมเริ่มดำเนินการได้ภายในปี.2552. ตั้งเป้าว่าในระยะแรกจะมีรายได้ประมาณ 150-200 ล้านบาทต่อปี โดยดำเนินการในนามบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะได้จากการดำเนินโครงการนี้ นอกเหนือจากรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวแล้ว ยังรวมถึงการสั่งสมประสบการณ์ซึ่งจะเป็นรากฐานที่แข็งแรงในการขยายธุรกิจของ พลังงาน ของกลุ่มบริษัทสามารถ เพื่อเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบอื่นในอนาคต โดยต้องอาศัยความช่วยเหลือและสนับสนุนจากสทน. ซึ่งเป็นเลิศทางด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยพัฒนาความรู้ต่างๆด้านนิวเคลียร์ และนำมาประยุกต์ให้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง ต่อไป