เนื้อหาวันที่ : 2007-12-03 14:40:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1661 views

พลังงาน ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหน้าโรงกลั่น1.20 บาทต่อกิโลกรัม

ก.พลังงาน ประกาศปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซหุงต้ม 1.20 บาทต่อกิโลกรัม กระทบขายปลีกเพิ่มเป็น 18.01 บาทต่อกิโลกรัม ชี้กองทุนน้ำมันลดภาระชดเชยเดือนละ 279 ล้านบาท สร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน ระบุสาเหตุ อาจเกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้มในอนาคต

ก.พลังงาน ประกาศปรับขึ้นราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นก๊าซหุงต้ม 1.20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มเพิ่มเป็น 18.01 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 18 บาทต่อถังเป็น 270 บาทต่อถัง สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม ชี้กองทุนน้ำมันลดภาระชดเชยเดือนละ 279 ล้านบาท และสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมัน ระบุสาเหตุ อาจเกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้มในอนาคต

 

มีความจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพงมาก หลังพบยอดการใช้ทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเกิดการลักลอบส่งออก ทำให้เสียเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มั่นใจแผนการรองรับการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มรอบด้าน ให้คนไทยได้ประโยชน์สูงสุด

 

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (30 พย.) กระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาปรับราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นของก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้น 1.20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้ในรถยนต์เพิ่มขึ้น 65 สตางค์ต่อลิตร และราคาจำหน่ายปลีกก๊าซหุงต้ม จะอยู่ที่ 18.01 บาทต่อกิโลกรัม

 

หรือราคาก๊าซหุงต้มถัง 15 กิโลกรัมเพิ่มขึ้น 18 บาทต่อถังเป็น 270 บาทต่อถัง (จากเดิมราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ระดับ 16.81 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 252 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม) เพื่อลดภาระการชดเชยเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องจ่ายชดเชยราคาก๊าซหุงต้มประมาณ 279 ล้านบาทต่อเดือน ทั้งนี้ สาเหตุที่กระทรวงพลังงาน มีความจำเป็นต้องปรับราคาก๊าซหุงต้มในครั้งนี้

 

เนื่องจากพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้นโยบายตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มมาโดยตลอด แม้จะมีการปรับขึ้นเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังน้อยกว่าต้นทุนในการผลิตก๊าซ โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เก็บจากน้ำมันชนิดอื่นมาจ่ายชดเชย จนมีผลให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มต่ำกว่าน้ำมันชนิดอื่น ๆ ทำให้เกิดการใช้ก๊าซหุงต้มแทน

 

โดยในภาคขนส่ง ผู้ใช้รถยนต์ได้เปลี่ยนมาใช้ก๊าซหุงต้มแทนน้ำมันเบนซิน และภาคอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนมาใช้แทนน้ำมันเตา โดยเฉพาะในภาคขนส่งนั้น พบว่าปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ในปี 2549 ที่ผ่านมา มีการใช้เพิ่มถึง 51.6% และในปี 2550 นี้ มีการใช้เพิ่มขึ้น 29.7% ขณะที่การผลิตก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 % ในปี 2549 และ 6.8% ในปี 2550 ซึ่งหากปล่อยให้มีการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้มในอนาคตอันใกล้นี้

 

นอกจากนี้ จากราคาก๊าซหุงต้มในประเทศที่จำหน่ายต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดการลักลอบส่งออก ซึ่งทำให้สูญเสียเงินจากกองทุนน้ำมันฯ รวมทั้งการใช้ก๊าซหุงต้มมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในเครื่องยนต์เพิ่มขึ้น ทำให้ขาดรายได้จากการส่งออกและสูญเสียโอกาสจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่า

 

"ราคาก๊าซหุงต้มได้ถูกชดเชย 2 ระดับ คือ การชดเชยโดยตรงจากกองทุนน้ำมัน โดยผู้ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อมาชดเชยผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันที่มีทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีการชดเชยโดยอ้อมจากผู้ผลิตก๊าซหุงต้ม จากการที่รัฐบาลได้กำหนดราคาก๊าซหุงต้มอยู่ในระดับไม่เกิน 320 เหรียญต่อตัน"

 

"ในขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ในระดับประมาณ 740 เหรียญต่อตัน ทำให้เกิดส่วนต่างด้านราคา ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิต และผู้ค้าก๊าซหุงต้ม อยากส่งออกมากกว่าจำหน่ายในประเทศ โดยการปรับราคาครั้งนี้เป็นการลดภาระการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน และได้มีการกำหนดสูตรราคา ณ โรงกลั่นให้สามารถเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลกได้เล็กน้อย พร้อมกับการยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนจากการส่งออกก๊าซ หุงต้ม" นายวีระพลกล่าว

 

ดังนั้น ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับราคาเพื่อลดภาระการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ และค่อยๆปรับราคาให้สะท้อนราคาตามต้นทุนจริงที่ควรเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือน และเกิดการใช้ก๊าซหุงต้มผิดประเภท โดยเฉพาะการใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ รวมไปถึงการดัดแปลงไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอาจเกิดความไม่ปลอดภัยด้วย

 

สำหรับการปรับราคาก๊าซหุงต้มครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อค่าก๊าซหุงต้มครัวเรือนเดือนละ 9 บาท หากใช้ก๊าซหุงต้ม 2 เดือนต่อ 1 ถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นกะละประมาณ 24 บาท มีผลกระทบต่ออาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 4 สตางค์ต่อ 1 จาน อย่างไรก็ตาม ในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มในครั้งนี้ ภาครัฐได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือแยกเป็นกลุ่มประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

 

ในกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ ปตท.จะเปลี่ยนเครื่องยนต์จากก๊าซหุงต้มเป็นก๊าซธรรมชาติ หรือ NGV ให้ฟรี จำนวน 50,000 คัน ภายในปี 2552 รวมทั้งให้ปตท. เพิ่มจำนวนสถานีบริการ NGV ให้ครอบคลุมพื้นที่ 4 มุมเมือง และเปิดสถานีให้ใกล้กับอู่รถแท็กซี่ เพิ่มขึ้นอีก 170 แห่ง ภายในปี 2551 และเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซ NGV มีไม่เพียงพอ

 

ทางปตท. จะมีแผนการติดตั้งสถานีบริการ NGV ขนาดใหญ่ (สถานีแม่) ที่มีหัวจ่าย 40 หัวจ่าย จำนวน 7 สถานี ติดตั้งตามจุดสำคัญ ๆ ต่างทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นจุดจอดรถโดยสาระสำคัญ ๆ รวมทั้งการจัดสรรรถบรรทุกก๊าซอีก 300 คัน เพื่อให้เพียงพอต่อการสนับสนุนก๊าซ NGV ในสถานีบริการ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2551

 

รวมทั้งจะเร่งขยายสถานีบริการตามจุดบริการก๊าซหุงต้มเดิม ให้ปรับเปลี่ยนเป็นสถานีบริการ NGV โดยปตท. จะเป็นผู้ลงทุนสถานีทั้งหมด (งบประมาณ 20 ล้านบาทต่อสถานี) เพื่อเป็นการจูงใจให้เจ้าของสถานีก๊าซหุงต้มเดิม เปลี่ยนมาให้บริการNGV โดยเบื้องต้น อาจทำควบคู่ไปกับการจำหน่ายก๊าซหุงต้มไปด้วย นอกจากนี้ จะได้เปิดสถานีบริการในพื้นที่ของหน่วยงานราชการ และเอกชนเพิ่มเติม

 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง โดยกระทรวงพลังงานจะดำเนินการปรับเปลี่ยนเตาประสิทธิภาพสูง ในส่วนของเตาอบลำไย เตาเผาเซรามิก และเตาอบกุนเชียง ในวงเงินประมาณ 600 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายจะช่วยผู้ประกอบการประหยัดการใช้ก๊าซหุงต้มได้สูงถึง 30 – 60% โครงการอนุรักษ์พลังงานแบบมีส่วนร่วม ที่จะส่งที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่โรงงานเรื่องการจัดการพลังงาน ตลอดจนการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน