เนื้อหาวันที่ : 2018-09-13 17:33:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1249 views

ก.วิทย์ฯ ยกระดับความร่วมมือกับ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านฟิสิกส์พลังงานสูง เสริมภาพลักษณ์ไทยสู่ประชาคมโลก

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างราชอาณาจักรไทย กับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านฟิสิกส์พลังงานสูง ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพิธีลงนามความตกลงความร่วมมือดังกล่าวนี้ ในวันที่ 13 กันยายน 2561 เวลา 17.30 น. ณ วังสระปทุม

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงนามความตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศฯ (International Cooperation Agreement: ICA) ระหว่างไทย กับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) เป็นการยกระดับความร่วมมือกับเซิร์น จากระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย เป็นระดับรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบสถานภาพของความร่วมมือทั้งหมดที่ไทยมีกับเซิร์น โดยกิจกรรมต่างๆ ที่ไทยทำกับเซิร์น ณ ปัจจุบัน และอนาคต จะอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือตาม ICA นี้ โดยทางเซิร์นมีรูปแบบของ ICA มาตรฐานที่ใช้ลงนามกับรัฐบาลของต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 50 ประเทศที่มีการลงนาม ICA กับเซิร์นแล้ว

การทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทย มีความก้าวหน้าในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์ ที่สนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เปิดโอกาสให้ศึกษาค้นคว้าโดยใช้เครื่องมือที่ไม่สามารถจัดซื้อหรือจัดสร้างได้เองในประเทศไทย และด้านเทคโนโลยี เซิร์นเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมวิจัยเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ในส่วนของเครื่องเร่งอนุภาค เครื่องตรวจวัดอนุภาค และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวหลายอย่างได้รับการนำไปพัฒนาเป็นต้นแบบเพื่อการประยุกต์ใช้ รวมถึงด้านการศึกษา ซึ่งเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งของเซิร์นในการให้การศึกษากับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในอนาคต รวมถึงการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับต่างๆ เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน และมีคุณภาพ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายในการพัฒนาคน และเทคโนโลยีกับนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเซิร์น จากที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ของไทย มีความร่วมมือกับเซิร์น ซึ่งเป็นประโยชน์กับประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคน ได้ส่งนักเรียน นักศึกษา และครูไปอบรมที่เซิร์น ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยี ได้มีความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิศวกรรม เพื่อตอบโจทย์วิจัยต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างเครื่องเร่งอิเล็กตรอนเชิงเส้นสำหรับอาบผลไม้ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศในอนาคต เพื่อพัฒนานักวิจัยไทยสู่การศึกษาทดลองในระดับนานาชาติ รวมถึงพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้ทัดเทียมนานาประเทศ อีกทั้งยังพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรองรับการผลิตอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการทดลองของเซิร์น สร้างรายได้ให้กับประเทศ และนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศต่อไป 

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ เปิดเผยว่า ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดําริและทรงเล็งเห็นความสำคัญว่า หากนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทํางานวิจัยร่วมกับเซิร์น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงชั้นนําระดับโลก จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ถึงปัจจุบัน โดยเสด็จพระราชดำเนินนำคณะนักวิทยาศาสตร์ไทยไปเยือนเซิร์น ณ สมาพันธรัฐสวิส จำนวน 5 ครั้ง และในปี 2552 ได้มีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงความร่วมมือกัน (Expression of Interest: EOI) ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กับ กลุ่มวิจัยสถานตรวจวัด CMS ของเซิร์น เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการส่งนักศึกษาและครูฟิสิกส์ไทยไปร่วมโครงการภาคฤดูร้อนเซิร์น รวมทั้งสนับสนุนให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงที่เซิร์น และพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น เพื่อดูแลภาพรวมของการพัฒนาความร่วมมือ และสนับสนุนความร่วมมือวิจัยระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยกับเซิร์น ซึ่งปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น-เดซี และจีเอสไอ

ปัจจุบันการดำเนินความร่วมมือไทยกับเซิร์น ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีหน่วยงานเข้าร่วม จำนวน 13 แห่ง และมีโครงการความร่วมมือต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินโครงการต่างๆ นี้ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงฯ ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดี และนำมาสู่การยกระดับความร่วมมือมาเป็นความร่วมมือระดับประเทศที่จะมีการลงนามความตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ 

ศาสตราจารย์เอมมานูเอล เจสเมลีส Principal Physicist, Head of Associate Member and Non-Member State, Relations, CERN International Relations กล่าวถึงการสนับสนุนความร่วมมือไทย-เซิร์นว่า เซิร์นได้พัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกับมหาวิทยาลัย และสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยหลายแห่งอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานหลายปี รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มการทดลอง CMS ในปี พ.ศ.2555 กลุ่มของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอันประกอบด้วยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เข้าร่วมกลุ่มการทดลอง ALICE ในปีเดียวกัน การเข้าร่วมโครงการคอมพิวเตอร์กริด เพื่อร่วมการประมวลข้อมูลของ CMS และ ALCE และความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. เพื่อสนับสนุนการทดลอง CMS และ ALICE 

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงให้การสนับสนุน รวมถึงหน่วยงานในประเทศไทยที่ทำงานสนองแนวพระราชดำริ ที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความร่วมมือกับเซิร์นเป็นไปอย่างเข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน

นิสิต นักศึกษา และครูระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการภาคฤดูร้อนของ เซิร์นทุกปี การอบรมทางด้านฟิสิกส์อนุภาค และสาขาที่เกี่ยวข้องที่ได้จัดทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และที่ต่างๆ ได้ทำให้นักวิจัย นิสิต นักศึกษาจากทั้งเซิร์นและไทยได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน รวมทั้งการเข้าร่วมการอบรมระยะสั้นของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ เซิร์น ในทุกปี

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของ International Cooperation Agreement คือ

  1. เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการศึกษาวิจัย ณ เซิร์น
  2. เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าร่วมฝึกอบรมของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ครู และนักเรียนจากประเทศไทย ที่เซิร์น
  3. เพื่อเสริมสร้างความสามารถของประเทศไทยผ่านการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ และนำเอาความร่วมมือในการศึกษาฟิสิกส์อนุภาคมาเป็นแบบอย่างสำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์ในด้านอื่นๆ

โดยสรุปแล้ว International Cooperation Agreement นี้จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับเซิร์น เพิ่มโอกาสของบุคลากรของไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของเซิร์น รวมถึงการขยายกรอบความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมนักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากประเทศไทย