เนื้อหาวันที่ : 2018-09-12 17:27:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1711 views

วสท. เปิดเวทีเสวนา “เครนล้ม ! อุบัติภัยซ้ำซาก ใครรับผิดชอบ”

ในการพัฒนากรุงเทพฯและเมืองใหญ่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันเมืองเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภค ตึกสูงและไซต์สิ่งก่อสร้างจำนวนมากมายเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยและธุรกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันอุบัติเหตุจากเครนก่อสร้างเกิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)โดย คณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิวและปันจั่นไทย จึงได้จัดงานเสวนา เรื่อง “เครนล้ม ! อุบัติภัยซ้ำซาก ใคร ? รับผิดชอบ” จัดเวทีเสวนา เรื่อง “เครนล้ม ! อุบัติภัยซ้ำซาก ใครรับผิดชอบ” ณ อาคาร วสท. (รามคำแหง 39) โดยมีนักวิชาการ วิศวกร ผู้ประกอบการ บุคคลากรและผู้สนใจมาร่วมงาน

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า มีข่าวอุบัติเหตุจากเครน หรือ ปั้นจั่น เกิดบ่อยในประเทศไทย ในปี 2560 ที่ผ่านมามีข่าวไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ประชาชนเสียชีวิตกว่า 15 ราย  สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สิน ส่งผลต่อทั้งภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมก่อสร้างและประเทศ ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างต้องล่าช้าออกไป และเกิดคดีความต่าง ๆ ด้วย จนถึงครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 เครนก่อสร้างถล่มจากชั้นที่ 7 ของอาคารคอนโดมิเนียม ย่านพระราม 9 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทั้ง ๆ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมายหลายฉบับ มีผู้ประกอบการบริการและเช่าเครนกว่า 200 ราย รวมทั้งผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากในการก่อสร้าง แต่เหตุใดจึงยังมีอุบัติเหตุเครนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วสท. โดยคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้จัดตั้ง อนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทยในปี 2555 เพื่อเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา วิศวกรผู้ตรวจสอบปั้นจั่น/เครน รวมทั้งได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ในด้านการออกแบบ การตรวจสอบ การใช้งาน การบำรุงรักษา สำหรับปั้นจั่น/เครนหลากหลายชนิด ซึ่งการใช้งานเครนกำลังมีบทบาทมากขึ้นในการใช้เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก เพื่อทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานและดูแลบำรุงรักษาปั้นจั่น/เครน ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยทั้งในโณงงานอุตสาหกรรมและไซต์งานก่อสร้างต่าง ๆ ในอนาคต วสท.มีแผนงานที่จะพัฒนา มาตรฐานการติดตั้ง ตรวจสอบ และบำรุงรักษา ปั้นจั่น/เครนชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้วิศวกรและผุ้ที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการปฏิบัติงานและเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการใช้งานปั้นจั่น/เครนในประเทศไทย  โดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมพัฒนารายการตรวจสอบและคู่มือการตรวจสอบปั้นจั่น เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า อุบัติเหตุครั้งล่าสุด เครนล้มที่ถนนพระราม 9 ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ย่านพระราม 9 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 61 อาคารมีความสูง 8 ชั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีอาคารทั้งหมด 4 อาคาร โดยจุดเกิดเหตุอยู่ที่บริเวณอาคารหมายเลข 2 ชั้นที่ 7 บริเวณที่นั่งคนขับเครนพบผู้เสียชีวิตเป็นคนขับเครนที่กำลังทำงานอยู่ด้านบนอาคาร  เบื้องต้นคาดว่าขณะที่เครนตัวดังกล่าวกำลังยกของและหมุนตัวเพื่อจะนำของไปวางในจุดที่ต้องการ เครนเกิดเอนตัวและล้มลง คนขับหนีไม่ทันจึงถูกเครนทับเสียชีวิต สาเหตุความเป็นไปได้อาจเกิดจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน และจากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าที่รอยขาดของโครงสร้างขาเครนมีร่อยรอยสนิมอย่างชัดเจนเป็นพื้นที่เกินกว่าครึ่งหนึง โดยพบว่ามีรอยเนื้อเหล็กที่เพิ่งขาดน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่หน้าตัดของขาเครนด้านตรงข้ามฝั่งที่ล้ม คาดว่าจะเกิดรอยสนิมดังกล่าวอาจมีร่องรอยการแตกร้าวมาก่อนเกิดเหตุ แต่เนื่องจากรอยแตกร้าวดังกล่าวมีประกับเหล็กปิดทับ เป็นเหตุให้วิศวกรผู้ตรวจสอบหลังการติดตั้ง ไม่สามารถมองเห็นหรือตรวจสอบได้ และพบว่าเครนดังกล่าวน่าจะมีอายุการใช้งานกว่า 20 ปี อาจทำให้โลหะโครงสร้างบางจุดเกิดความล้าจากการใช้งานมายาวนานได้ รวมทั้งการปฏิบัติงานในเวลาดังกล่าว พบว่าไม่มีผู้ควบคุมการใช้งานเครนที่มีประสบการณ์เพียงพอ อยู่ควบคุมการทำงานของผู้บังคับเครน

สาเหตุหลักของอุบัติเหตุจากเครน มาจากหลายสาเหตุ เช่น 1) โครงสร้างของปั้นจั่นมีการแตกหัก ในขณะปฏิบัติงาน 2) ขั้นตอนการติดตั้ง ปรับระดับ รื้อถอนปั้นจั่นไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 3) ชุดอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยชำรุด เช่น ลิมิตสวิตช์ตัดการทำงานชำรุด 4) การยกวัสดุเกินพิกัดที่กำหนด 5) ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ผุ้ควบคุมการติดตั้ง ผู้บังคับ เครน ผู้ตรวจสอบ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย 

จึงควรมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน เช่น 1) การใช้งานเครน ต้องมีการตรวจสอบตามคู่มือผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด รวมถึงขั้นตอนก่อนการติดตั้งและขั้นตอนการติดตั้งปรับระดับ รื้อถอนเครนหอสูง (Tower Crane) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เครนเก่ามาก อาจต้องมีการยกเครื่อง (Overhaul) หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ เช่น สลัก โบลท์ น็อต รวมทั้งมีการตรวจสอบ/ทดสอบเชิงลึกในจุดโครงสร้างสำคัญ เช่น การทดสอบแบบไม่ทำลาย (NDT) โดยผู้ตรวจสอบที่มีคุณสมบัติ 2) ผู้ประกอบการต้องเลือกใช้งานเครนที่มีสภาพดีและผ่านการตรวจสอบ/ทดสอบจากวิศวกรที่มีคุณสมบัติและผ่านประสบการณ์ด้านเครน 3) การให้มีผู้ควบคุมการใช้งานเครนที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านงานยกอยู่ควบคุมตลอดเวลาที่มีการทำงานยก รวมถึงการจัดทำแผนการยกก่อนการทำงาน 4)มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้มีการจัดทำแผนงานการตรวจสอบก่อนการติดตั้งและขั้นตอนการติดตั้งจากเจ้าของเครน โดยมีวิศวกรวิชาชีพเป็นผู้รับรอง รวมทั้งวิศวกรผู้ควบคุมการติดตั้งจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น ผ่านการฝึกอบรมจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือองค์กรวิชาชีพ ก่อนเข้าปฏิบัติงาน

สำหรับ ปั้นจั่น หรือ เครน นับว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจแยกได้เป็นหลายชนิด เช่น ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane), ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane) รวมถึงรถเครน, ปั้นจั่นเหนือศีรษะ (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) และรอกไฟฟ้า (Electric Hoist) ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกแบบต่าง ๆ โดยตามกฎหมายได้มีการกำหนดให้มีการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินกว่า 1 ปี ในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครนก้าวหน้า แต่ในประเทศไทยมักใช้เครนเก่ามือสองมือสามซึ่งมีเป็นจำนวนมากเกินกว่าครึ่งหนึงของตลาดการใช้งานทั้งหมด เครนบางตัวมีอายุเกินกว่า 30 ปี  อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่น ลิมิตสวิตช์ตัดการทำงานของเครน สภาพของสลิงที่ใช้งานมีสภาพชำรุด สภาพโครงสร้างที่อาจได้รับผลกระทบจากความล้าของโลหะ การบำรุงรักษาในขั้นตอนก่อนการติดตั้งหรือขั้นตอนการติดตั้งที่ยังขาดการตรวจสอบตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ผู้บังคับเครนและผู้ยึดเกาะวัสดุยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน รวมถึงผู้ว่าจ้างยังขาดความสนใจเรื่องคุณภาพความพร้อมของเครนทีใช้งาน โดยจะพบเครนกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่ทำงาน รวมถึงไซต์ก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ จึงนับว่าอุบัติภัยจากเครน เป็นอีกความเสี่ยงภัยสาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนได้

ข้อเสนอแนะจาก วสท.ในการลดปัญหาอุบัติเหตุจากเครน

  1. ผู้ประกอบการควรพัฒนาบุคคลากรคนขับเครนต้องผ่านการอบรมให้มีความรู้เชี่ยวชาญ และการใช้เครนอย่าถูกต้องและปลอดภัย เลือกใช้งานเครนที่มีสภาพดีและผ่านการตรวจสอบ/ทดสอบจากวิศวกรที่มีประสบการณ์ด้านเครนชนิดนั้น ๆ
  2. มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจัดทำแผนงานการตรวจสอบก่อนการติดตั้ง และขั้นตอนการติดตั้งจากเจ้าของเครน โดยมีวิศวกรวิชาชีพเป็นผู้รับรอง รวมทั้งวิศวกรผู้ควบคุมการติดตั้งจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น ผ่านการฝึกอบรมจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือองค์กรวิชาชีพ ก่อนเข้าปฏิบัติงาน และส่งเอกสารรับรองการติดตั้งให้ส่วนงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
  3. 3. ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งการทดสอบ, การตรวจสอบ, พนักงานขับ, พนักงานติดตั้ง, หัวหน้าควบคุมการติดตั้ง, วิศวกรควบคุมการติดตั้ง, วิศวกรตรวจสอบ เพราะทุกคนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
  4. การใช้งานเครน ต้องมีการตรวจสอบตามคู่มือผู้ผลิต อย่างเคร่งครัด รวมถึงขั้นตอนก่อนการติดตั้งและขั้นตอนการติดตั้งปรับระดับเพิ่ม-ลดความสูง รื้อถอนเครนหอสูง ในกรณีที่เครนเก่ามาก อาจต้องมีการ Overhaul หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ เช่น สลัก โบลท์ น็อต รวมทั้งมีการตรวจสอบ/ทดสอบเชิงลึกในจุดโครงสร้างสำคัญ เช่น การทดสอบแบบไม่ทำลาย (NDT) โดยผู้ตรวจสอบที่มีคุณสมบัติ
  5. จัดให้มี ผู้ควบคุมการใช้งานเครน ที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านงานยกอยู่ควบคุมตลอดเวลาที่มีการทำงานยก รวมถึงการจัดทำแผนการยกก่อนการทำงาน
  6. พัฒนาวิศวกรผู้ตรวจ-ทดสอบเครน ให้มีความรู้ความเข้าใจในการทดสอบ อาจให้ วสท. เป็นหน่วยงานกลางร่วมกับส่วนราชการ เพื่อทดสอบความรู้เฉพาะทาง พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนให้แก่วิศวกรผู้ที่ผ่านการทดสอบ