เนื้อหาวันที่ : 2018-07-10 17:15:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1217 views

ทีซีซีเทค หนุนยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพแรงงาน (Human Capital Development) จับมือ ICDL Thailand สร้างกำลังคนยุคใหม่ผ่านโครงการ ICDL Digital Challenge 2018

บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการสนับสนุน โครงการ ICDL Digital Challenge 2018 แห่งประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ Building Future Digital Workforce for Thailand 4.0 จัดโดย International Computer Driving License: ICDL Thailand ซึ่งเป็นผู้นำด้านทักษะคอมพิวเตอร์และทักษะดิจิทัลระดับมาตรฐานสากล พร้อมระบบออนไลน์การประเมินทักษะความสามารถก้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ทั้งนี้เป้าหมายหลักของโครงการ เพื่อกระตุ้นให้บุคลากรรุ่นใหม่ตื่นตัวในการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสู่มาตรฐานสากล และสามารถตอบโจทย์การทำงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจัดขึ้น ณ Multifunction Hall ชั้น 10 C asean (ซีอาเซียน)

นายวรดิษฐ์ วิญญรัตน์ กรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) กล่าวว่า ทีซีซี เทคโนโลยี ในฐานะองค์กรภาคเอกชน เรามีความพร้อมและความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัล (Digital Literacy) โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นกับตัวบุคลากรเอง องค์กร ตลอดจนสังคมโดยรวม “ผมมองว่าโอกาสทางธุรกิจไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบันและอนาคตล้วนอาศัยประสิทธิภาพของสองปัจจัยหลักคือเทคโนโลยีและคน แต่ด้วยว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันมันฉลาดและซับซ้อนขึ้นมากจนทำให้คนตามไม่ทัน ขยายผลไปสู่การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาด เฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างไรให้ตรงกับแนวทางการปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ที.ซี.ซี. เทคโนโลยีเองเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรทั้งในองค์กรและนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าแม้ตอนนี้ประเทศของเรายังอยู่ในช่วงต้นของการสร้าง Digital Talent ที่รองรับกับ Digital Workforce Models แต่ผลกระทบด้านแรงงานดิจิทัลจะคลี่คลายลงได้เร็วขึ้นหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน”

จะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลต่อความต้องการ “แรงงาน” เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะในบริบทของภาคอุตสาหกรรม หลายองค์กรต่างมองหาคนที่มีความรู้ และความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามาเสริมทัพ ในขณะเดียวกันได้มุ่งพัฒนาทักษะพนักงานเดิมในระบบให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ความเชี่ยวชาญการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับมาตรฐานสากลเพิ่มสูงขึ้น “ผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนต่างตระหนักถึงผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแม้กระทั่งนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษาเอง เวทีนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าเยาวชนของเรามีทัศนคติที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง และมองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค ซึ่ง ICDL Digital Challenge 2018  ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวในการเตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงานยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงและเราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการดี ๆ เช่นนี้” กล่าวโดยนายวรดิษฐ์

ด้าน นางสาวกฤษฏิ์กัญญา  กานต์จิรธันย์ กรรมการบริหาร ไอซีดีแอล ไทยแลนด์ กล่าวถึงที่มาโครงการ ICDL Digital Challenge 2018 ว่า การแข่งขัน Digital Challenge 2018 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ ICDL จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และร่วมขับเคลื่อนการยกระดับทักษะดิจิทัลของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้ได้มาตรฐานสากลไปด้วยกัน ทั้งในกลุ่มกำลังคนแห่งอนาคต ได้แก่นักเรียน นักศึกษาจากภาคการศึกษาที่กำลังเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกลุ่มบุคลากรภาคการทำงาน รวมถึงภาครัฐและเอกชน  ซึ่งทุกส่วนจะต้องทำไปพร้อม ๆ กัน เพราะปัจจุบันภาคการทำงานทั้งรัฐและเอกชนต่างเร่งพัฒนาบุคลากรของตนให้ทันกับการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน อีกทั้งมองหากำลังคนยุคใหม่ที่มาพร้อมกับทักษะดิจิทัลที่ได้มาตรฐานสากล ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ หากภาคการศึกษาสามารถพัฒนาและผลิตกำลังคนแห่งอนาคตออกมาได้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานยุคดิจิทัล ก็จะทำให้การขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 สำเร็จและเป็นจริงได้อย่างรวดเร็วในไม่ช้า แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสู่ความสำเร็จนี้ คือ ตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ประชาชนคนทั่วไป เราต่างต้องเปิดใจที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ น้อมรับความเปลี่ยนแปลง สนุกกับการเรียนรู้พัฒนาตนเองตลอดชีวิต ยกระดับพัฒนาทักษะที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เพราะความสำเร็จของประเทศไทยเกิดจากคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ซึ่งก็คือ ตัวเราทุกคน

“เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัลจะแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การทำธุรกิจ การปฎิสัมพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น ชีวิตดีขึ้น ธุรกิจสามารถขยายและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ เพิ่มผลกำไร ประเทศไทยก็จะสามารถก้าวเข้าสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ได้อย่างมั่งคั่งยั่งยืนและมั่นคง แต่ สิ่งดีๆ เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากพวกเราทุกคนไม่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ดีพอ จริงๆ แล้วการที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน เปรียบเสมือนคลื่นสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง การที่คนไม่มีทักษะที่ใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ จะกลับกลายเป็น “ความเสียหาย” ในทันที เสียหายทั้งกับตัวเอง กับองค์กรและประเทศชาติ ดังนั้นแล้ววันนี้จึงถึงจุดที่เราจะมองข้าม ละเลยหรือปฏิเสธเรื่องการพัฒนาทักษะดิจิทัลไม่ได้เลย วันนี้เราต้องมองว่า ทรัพยากรมนุษย์ คือ ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาทักษะดิจิทัลพื้นฐานที่จำเป็นให้แก่คนไทยทุกคนเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องลงทุนทำทันทีและทำอย่างมีคุณภาพ เปรียบเสมือนการติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ของเรา ซึ่งสิ่งนี้จะสำเร็จได้ก็ต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และตัวบุคคลเองด้วย” กล่าวโดย นางสาวกฤษฏิ์กัญญา กานต์จิรธันย์