เนื้อหาวันที่ : 2018-06-20 17:33:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1352 views

สศอ. ผนึกกำลังพันธมิตรจัดกิจกรรม Robotics Cluster Pavilion ครบวงจร กระตุ้นผู้ประกอบการ SMEs ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในงาน Manufacturing Expo 2018

กระทรวงอุตสาหกรรม ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนา SMEs ของประเทศไทย ให้เข้าถึงเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องมีการพัฒนาตนเอง ในทุก ๆ ด้าน เพื่อสร้างเสริมศักยภาพ ความสามารถ รองรับโอกาสที่จะมาถึงและสร้างการเติบโตในอนาคต โดยกระทรวงฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร Kickoff กิจกรรมการพัฒนาและส่งเสริม SMEs ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) เพื่อการยกระดับผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีการรวบรวมมาตรการส่งเสริมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ในจุดเดียว (One Stop Service) เป็นครั้งแรก ในพื้นที่ของ Robotics Cluster Pavilion ในงาน Manufacturing Expo 2018 ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญและหาแนวทางการพัฒนาธุรกิจได้อย่างครบวงจร

ตามที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา และมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบติดตามและรายงานผลการดำเนินการมาตรการดังกล่าวนั้น สศอ. ได้ดำเนินการบูรณาการแผนงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลและดำเนินการตามมาตรการในด้านต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตามลำดับ อาทิ การดำเนินการของศูนย์ Center of Robotics Excellence (CoRE) ซึ่งมีภารกิจหลักในการโดยมีการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการกลุ่ม System Integrator (SI) พร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 250 ราย และเริ่มฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2561 ทั้งนี้ กิจการที่เข้าร่วมยังได้รับการสนับสนุนสินเชื่อประเภท  ต่าง ๆ สำหรับลงทุนเพื่อขยาย/ปรับปรุงกิจการให้มีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นจากความร่วมมือใกล้ชิดกับ SME Bank

 

นายสมชาย หาญหิรัญ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมเอสเอ็มอี เข้าถึงระบบอัตโนมัติ เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0” ในพิธีเปิดงาน “ออโตโมทีฟ ซัมมิท 2018” และ “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2018” ว่า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของผู้ประกอบการสู่การจัดการการผลิตสมัยใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปยกระดับผลิตภาพในกระบวนการผลิต โดยมีกิจกรรมที่จัดขึ้นใน Robotics Cluster Pavilion ในงาน Manufacturing Expo 2018 นี้เป็นส่วนหนึ่งของการ Kickoff มาตรการการสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัวสู่ระบบการผลิตให้ทันสมัยมากขึ้น และเพื่อรวบรวมสรรพกำลังของหน่วยงานชั้นนำของประเทศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อการวางรากฐานระยะยาว จึงผลักดันให้เกิด Center of Robotics Excellence (CoRE) ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจหลัก4 ด้าน คือ รับรองคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SI พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ พัฒนาบุคลากร รวมถึงสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการไทย

นายสมชายฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านกระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์ ITC เขตกล้วยน้ำไท เพื่อจำลองระบบการผลิตตามแนวคิด LASI (Lean Automation System Integrator) ในพื้นที่ปฏิบัติงาน/โรงงานจำลอง เพื่อสร้างต้นแบบโรงงานสำหรับการยกระดับผู้ประกอบการสู่ Smart Factory และดำเนินการพัฒนาบุคลากร ด้วยหลักสูตรการออกแบบระบบการผลิตตามแนวคิด LASI เพื่อพัฒนา System Integrator (SI) นักศึกษา รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งศูนย์ ITC เขตกล้วยน้ำไทนี้จะเป็นต้นแบบให้กับ ITC อีกทั้ง 11 ศูนย์ภาค นอกจากนี้ยังริเริ่มการดำเนินโครงการ Three–Stage Rocket Approach เพื่อผลักดัน SMEs ไทยให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติอย่างรวดเร็วใน 3 ขั้นตอน ภายใต้โครงการ Connected Industries ประกอบด้วย

ขั้นที่ 1 Visualize Machine คือ พัฒนากระบวนการผลิตสู่การเป็นดิจิทัล และรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาใช้วิเคราะห์เพื่อปรับปรุงกระบวนการ โดยการนำระบบ Sensor เข้าไปติดตั้งที่เครื่องจักร อุปกรณ์จะส่งข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรมาที่อุปกรณ์แสดงผล หรือ มอนิเตอร์เพื่อจะได้ติดตามอย่าง Real Time โดยนอกจากแสดงผลแบบ Real Time แล้วผลของข้อมูลการทำงานและจะสามารถเอามาวิเคราะห์ได้ด้วยของกระบวนการผลิตเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพได้

ขั้นที่ 2 Visualize Craftsmanship คือ ดำเนินการเก็บข้อมูลเคลื่อนไหวของพนักงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำไปวิเคราะห์การทำงานให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยการนำระบบ Sensor ไปติดที่พนักงานในสายการผลิต เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่การทำงานเพื่อนำมาวิเคราะห์การทำงานและปรับปรุงวิธีการทำงานให้เคลื่อนที่หรือเคลื่อนไหวการทำงานของร่างกายในการวางกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขั้นที่ 3 Lean Automation System Integrators หรือ LASI Project คือการพัฒนาการผลิตแบบ Lean Automation โดยกำจัดความศูนย์เปล่าในระบบการผลิตทั้งหมดควบคู่กับออกแบบการนำระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ทำให้การใช้งาน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบอัตโนมัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

นายณัฐพล รังสิตพล  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทาง สศอ. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank), เครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) Thai Automation and Robotics Association (TARA), สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และบริษัท Reed Tradex จัดกิจกรรม Robotics Cluster Pavilion ในงาน Manufacturing Expo 2018 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต

ซึ่งภายใน Robotics Cluster Pavilion นอกจากจะสร้างการเชื่อมโยง (Matching) ระหว่างผู้ซื้อ/ผู้ประกอบการ  และผู้ขายเครื่องจักรและเทคโนโลยีด้านการผลิตแล้ว ในพื้นที่ Hall 100 ยังจัดให้มีการบริการแบบ One Stop Service
ที่รวบรวมสิทธิประโยชน์ เพื่อส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการผลิตของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง BOI, DEPA, สวทช., SME Bank, CoRE และ TARA ไว้ในจุดเดียว โดยจัดให้มีการดำเนินกิจกรรม 5 ด้าน คือ

1.การสัมมนาเพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการ 3 หัวข้อที่น่าสนใจ คือ รวมสิทธิประโยชน์เพื่อการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในการผลิต, การเลือก SI อย่างไรให้เหมาะสมกับธุรกิจ และการเริ่มการใช้หุ่นยนต์ง่ายขึ้นด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษ

2. การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การเขียนโครงการเพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ BOI

3. การเข้าขอรับคำปรึกษา (Walk in Discussion)

4. บริการให้คำปรึกษาแบบ 1 ต่อ 1

5.การแสดงกรณีศึกษาตัวอย่าง SMEs 4.0 Showcase สาธิตตัวอย่างหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต้นแบบ

นอกจากนั้นยังมีการจัด Tour ตามเส้นทางที่กำหนดให้กับ SMEs ประกอบการอธิบายของวิทยากรให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มผู้เข้าชมจะเป็นกลุ่ม SMEs จากสมาพันธ์ SME ไทย

พร้อมกันนั้นภายในงาน ยังมีการแต่งตั้งหุ่นปัญญาประดิษฐ์ “โซเฟีย” ในการรับหน้าที่ทูตวัฒนธรรม สำหรับงานแสดงสินค้าครั้งแรกของโลกอีกด้วย จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะขอเชิญชวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs หรือประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการ Robotics Cluster Pavilion บริเวณพื้นที่ Hall 100 ภายในงาน Manufacturing Expo 2018 (ME 2018) ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการไบเทค บางนา ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที 23 มิถุนายน 2561 นี้