เนื้อหาวันที่ : 2007-11-20 09:21:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2575 views

7 กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีคว้ารางวัลสุดยอด SMEs แห่งปี

สสว. คัด 7 ธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยมาตรฐานการบริหารจัดการเยี่ยมและมีผลประกอบการดี ชี้เป็นแรงกระตุ้นให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศมุ่งสร้างมาตรฐานและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

สสว. คัด 7 ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นสุดยอด SMEs แห่งชาติด้วยมาตรฐานการบริหารจัดการเยี่ยมและมีผลประกอบการดี ชี้เป็นแรงกระตุ้นให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 2,200,000 ราย มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างมาตรฐานและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

.

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เปิดเผยว่า ตามที่ สสว.ได้จัดการประกวดรางวัลสุดยอด SMEs แห่งปี 2006 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อค้นหา SMEs ต้นแบบที่ได้มาตรฐานและประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการของ 10 อุตสาหกรรมเด่นที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารและสมุนไพร กลุ่มผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ กลุ่มผู้ผลิตอัญมณี และเครื่องประดับ กลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มผู้ผลิตเครื่องหนังและรองเท้า กลุ่มผู้พัฒนาซอฟแวร์ และ Application กลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มผู้บริการธุรกิจสปา และกลุ่มผู้บริการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท โดยมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะในการตัดสินครั้งนี้

.

การประกวดสุดยอด SMEs ปี 2549 นี้ จัดขึ้นเพื่อค้นหาและสร้างเสริม SMEs ต้นแบบที่ได้มาตรฐานในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมหลักๆ เพื่อเป็นแนวทางการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ในการที่จะเป็นการศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาตนเองอย่างมืออาชีพ เพื่อพร้อมก้าวไปสู่การแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมุ่งที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก้าวทันความต้องการของตลาดผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งยังยกระดับความสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

.

"ผลการตัดสินปรากฎว่ามีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศสุดยอด SMEs ปี 2549 จำนวน 7 รางวัล และรางวัลชมเชยอีก 7 รางวัล โดยผู้ที่ได้รับรางวัลสุดยอด SMEs ปี 2549 หรือ SMEs National Award 2006 ประกอบด้วย บริษัท ไทยคาเนตะ จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจซอฟแวร์ บริษัท เอ เอช ที (เอเชีย) จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องจักรและอุปกรณ์ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ บริษัท สยามโมลด์แอนด์พาร์ท จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ บริษัท แพนอินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจอาหารและสมุนไพร และบริษัท แอ็มมิตี้ แอ็ดวานซ์ จำกัด เป็นกลุ่มธุรกิจเครื่องหนังและรองเท้า" นางจิตราภรณ์ กล่าว

.

ในการพิจารณาให้รางวัลสุดยอด SMEs ปี 2549 หรือ SMEs National Award 2006 ครั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ทั้งข้าราชการและนักธุรกิจภาคเอกชน โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานและมีผู้อำนวยการ สสว. เป็นรองประธาน และยังมีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และตัวแทนจากสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิรายสาขาอีกมากมาย

.

ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้มีประสบการณ์การพิจารณาอย่างละเอียด โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากบทบาทของผู้บริหารในการนำองค์กร การวางแผนการดำเนินธุรกิจ การมุ่งเน้นลูกค้าและการตลาด การวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้ การบริหารทรัพยากรบุคคล การจัดการกระบวนการทางธุรกิจ และผลลัพธ์จากความสำเร็จของการประกอบธุรกิจ ซึ่งหลักเกณฑ์เหล่านี้จะใช้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาการมอบรางวัล SMEs National Award 2006

.

ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยอีกว่า ผู้ชนะการประกวดรางวัลสุดยอด SMEs ปี 2549 นี้ จะได้รับใบประกาศจากนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และสิทธิในการบริการต่างๆ ของ สสว. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น การใช้บริการของศูนย์บริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (iSMEs) การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนในการปรับปรุงธุรกิจด้านวิจัย และพัฒนานวัตกรรม จากสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ทุกบริษัทที่เข้าประกวดก็จะได้รับประโยชน์อย่างมาก เพราะได้รับรู้ถึงจุดดีและจุดอ่อนของตัวเอง ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ผู้ประกอบการก็จะได้รับประโยชน์และกำไรในการพัฒนาองค์กรของตน เพราะการประกวดครั้งนี้มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้บอกถึงบรรทัดฐานและแนวทางในการพัฒนาองค์กรของ SMEs ทุกบริษัท

.

นางจิตราภรณ์ กล่าวอีกว่า การประกวดรางวัลสุดยอด SMEs แห่งปี 2549 นี้ ถือว่าได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเกินความคาดหมาย เพราะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เป็นกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาชื่อเสียงของบริษัทให้ได้มาตรฐาน และมีผู้ประกอบการ SMEs สนใจเข้าร่วมประกวดครั้งนี้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้มั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงการที่ดีและเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ๆ ได้พัฒนาตนเองสู่การดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐานและเป็นมืออาชีพมากขึ้น และปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศกว่า 2,200,000 ราย และ สสว.ก็มีนโยบายและเป้าหมายสำคัญที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไทยอย่างต่อเนื่อง

.

"สสว.มุ่งหวังให้รางวัลสุดยอด SMEs แห่งปี เป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในประเทศพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง มีรูปแบบและมาตรฐานที่นำมาเป็นกรอบในการจัดการและดำเนินธุรกิจ เพราะที่ผ่านมายังขาดความเป็นมาตรฐานสากลในการบริหารจัดการด้านการเงิน การบริหารสภาพคล่อง การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ รางวัลนี้จะเปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก" นางจิตราภรณ์กล่าวในท้ายที่สุด