เนื้อหาวันที่ : 2007-11-06 09:33:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1499 views

ก.พลังงาน ชูภาพลักษณ์ใหม่ เปิดตัวทีมผู้บริหารสู่ความสำเร็จ

ก.พลังงาน ชูภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมเปิดตัวทีมผู้บริหารสู่ความสำเร็จ ย้ำช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล เร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ผลักดันให้นำโรงกลั่น SPRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เตรียมการรองรับ พรบ.ประกอบกิจการพลังงาน

ก.พลังงาน ชูภาพลักษณ์ใหม่ พร้อมเปิดตัวทีมผู้บริหารสู่ความสำเร็จ ย้ำช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล เร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ผลักดันให้นำโรงกลั่น SPRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เตรียมการรองรับ พรบ.ประกอบกิจการพลังงาน จัดตั้งสำนักงานพลังงานจังหวัด ยัน นโยบายพลังงานในอนาคต การกำกับดูแลต้องเป็นอิสระจากการเมือง ระบบผลิตพลังงานต้องมีประสิทธิภาพ งานวิจัยด้านพลังงานเป็นระบบมากขึ้น และราคาพลังงานในประเทศให้เหมาะสมและเป็นธรรม

.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่รัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา (ต.ค. 49 - ก.ย .50) กระทรวงพลังงานได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จตามเป้าหมายและมีผลงานที่สำคัญ ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินงานต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลนั้น กระทรวงพลังงานจะเร่งสานต่อโครงการสำคัญ ๆ เพื่อวางรากฐานการจัดหาพลังงานอย่างมั่นคงก่อนส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ต่อไป ได้แก่

.
การเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ การลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสัมปทานเอ็ม 9 ของ ปตท.สผ. ในสหภาพพม่า ประมาณ 300 - 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หลังจากที่ได้มีการขุดเจาะสำรวจจนพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองของก๊าซเพิ่มเติมแล้ว การเข้าไปเจรจาร่วมทุนและซื้อขายก๊าซทางท่อจากแหล่งนาทูน่า ในอินโดนีเซีย โดยแหล่งนาทูน่า ถือว่าเป็นแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของภูมิภาค ตลอดจนการสร้างความชัดเจนในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
.

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะได้เร่งผลักดันและสนับสนุนให้ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) ปฏิบัติตามสัญญาประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียมในการนำโรงกลั่น SPRC เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ภายหลังที่ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้นำโรงกลั่นเอสโซ่ ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว การชี้แจงร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน ในขั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งเตรียมการรองรับเมื่อมีการตราออกเป็นกฎหมายแล้ว การปรับโครงสร้างภายในกระทรวงพลังงาน เพื่อจัดตั้งสำนักงานพลังงานจังหวัด 36 จังหวัด

.

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มว่า การบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคต ที่กระทรวงพลังงานจะพยายามดำเนินการต่อไป คือ การกำกับดูแลกิจการพลังงาน ให้เป็นอิสระแยกออกจากกำหนดนโยบาย การส่งเสริมระบบผลิตพลังงานและการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมให้กิจการลงทุนด้านพลังงานเป็นที่น่าสนใจ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวทางการติดฉลากบอกประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในอุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์ และบ้านที่อยู่อาศัย การส่งเสริมระบบงานวิจัยด้านพลังงานให้เป็นระบบยิ่งขึ้น ตลอดจนการกำหนดโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศให้เหมาะสมและเป็นธรรม

.

สำหรับผลงานของกระทรวงพลังงาน ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถแบ่งออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ 1.) การปรับโครงสร้างการบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม ด้วยการแก้ไขกฎหมาย/ สัญญา เพื่อวางรากฐานในระยะยาว อาทิ การแก้ไขกฎหมายพลังงาน 6 ฉบับ (บังคับเป็นกฎหมายแล้ว 5 ฉบับ) การออกพระราชกฤษฏีกา กำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 การยกร่างกฎหมายใหม่ 1 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเข้าสู่การพิจารณาตรวจในขั้นกรรมาธิการแล้ว การแก้ไขสัญญาขยายและประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปสู่การนำหุ้นสามัญของบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และกระจายหุ้นสู่สาธารณะชนได้ภายในต้นปี 2551 เป็นต้น

.

2.) การจัดหาพลังงาน เพื่อความมั่นคงของประเทศ ผลงานที่สำคัญ อาทิ อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP 2007 และแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว สรุปผลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 19 พร้อมทั้งออกสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 20 การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมตามแหล่งปิโตรเลียม จากแหล่งก๊าซ U123 และแหล่งก๊าซบงกช ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) และอยู่ระหว่างกำลังลงนาม รวม 6 โครงการ การออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า IPP SPP และ VSPP ตลอดจนการเตรียมแผนงานเพื่อเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต

.

3.) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ ได้แก่ การจัดสรรเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลิตรละ 70 สตางค์ เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงการด้านระบบขนส่งมวลชนระบบราง และระบบน้ำ ริเริ่มการอนุรักษ์พลังงานโดยการประมูลแข่งขัน (DSM Bidding) การกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานทั้งภาครัฐ และเอกชน แนวทางการออกกฎกระทรวงกำหนดประสิทธิภาพสูง และเร่งติดฉลากประสิทธิภาพพลังงาน การปรับแผนและกำหนดเป้าหมายการอนุรักษ์พลังงานของประเทศ และการรณรงค์เปลี่ยนหลอดไส้เป็นหลอดตะเกียบ(CFL) เบอร์ 5 ทั่วประเทศ

.

4.) การพัฒนาพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การเร่งรัดโครงการพลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กระดับชุมชน การผลิตขยะเป็นพลังงาน การนำน้ำเสียผลิตเป็นพลังงาน โดยการสร้างแรงจูงใจด้วยการกำหนดส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือ Adder การขยายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้ระเบียบ SPP และ VSPP ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตและใช้เอทานอล แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และ NGV ซึ่งได้ทำให้มียอดการใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 5.2 ล้านลิตรต่อวัน(จากช่วงต้นปีที่มียอดใช้เพียง 3 ล้านลิตรต่อวัน) และไบโอดีเซลมียอดใช้เพิ่มขึ้น 2 ล้านลิตรต่อวัน (จากที่มีการใช้เพียง 0.1 ล้านลิตรต่อวัน)

.

5.) การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการ ลดหนี้กองทุนน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง จนคาดว่าจะลดหนี้กองทุนน้ำมันได้หมด ภายในสิ้นปี 2550 นี้ แนวทางการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ตลอดจนการปรับโครงสร้างราคา เอทานอล ไบโอดีเซล และ NGV ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

.

6.) การผลักดันพลังงานสะอาด ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การออกระเบียบจัดการไอระเหยน้ำมัน (VRU) ในคลังน้ำมัน รถขนส่ง และสถานีบริการน้ำมัน การกำหนดมาตรฐานน้ำมัน เชื้อเพลิงให้เป็นมาตรฐาน EURO 4 (ในอีก 5 ปีข้างหน้า) พร้อมสร้างแรงจูงใจสำหรับโรงกลั่นที่ดำเนินการตามมาตรฐานได้ก่อนกำหนด รวมทั้งร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำร่างค่ามาตรฐาน ควบคุมการปล่อยทิ้งไอเสียสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ (Emission Standard) เพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP 2007 รวมทั้งการผลักดันกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาด (CDM) จำนวน 15 โครงการที่ช่วยบรรเทาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

.

7.) การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการวางแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ขยายผลการจัดทำแผนพลังงานชุมชน 80 ชุมชน ในทุกจังหวัดทั่วประเทศในปี 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา วางแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า เพื่อนำประโยชน์มาสู่ชุมชนและประชาชนรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า และพัฒนาท้องถิ่น ที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า การจัดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแผนงานด้านพลังงานต่างๆ ในวงกว้าง ตลอดจนการสนับสนุนเทคโนโลยีระดับชุมชน เช่น ไบโอดีเซลชุมชน และระบบก๊าซชีวภาพ เป็นต้น