เนื้อหาวันที่ : 2018-02-21 11:48:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1644 views

หัวเว่ยส่ง OceanStor Dorado V3 ระบบเก็บข้อมูลแบบออลแฟลชสตอเรจเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน TCO ไอทีองค์กร​

หัวเว่ยชูเทคโนโลยีระบบเก็บข้อมูลแบบออลแฟลชสตอเรจ พร้อมส่ง OceanStor Dorado V3 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน TCO ไอทีในองค์กร เน้นเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารเป็นหลัก

โทนี่ พัลเมอร์ วิศวกรอาวุโส ESG Lab กล่าวว่าเทคโนโลยีออลแฟลชสตอเรจกำลังเป็นแนวโน้มสำหรับระบบการจัดเก็บข้อมูลขององค์กร ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของปริมาณข้อมูล อีกทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บที่สูงขึ้นกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สำหรับเทคโนโลยีสตอเรจแบบ Solid-State เริ่มได้รับความสนใจพิจารณาเลือกใช้งานในองค์กรมากขึ้นจาก 4 ปัจจัยสำคัญด้านประสิทธิภาพ ความเสถียรในการทำงาน ค่าใช้จ่ายต่อการจัดเก็บ รวมถึงความคุ้มค่าในการลงทุน (Total Cost of Ownership : TCO)

จากการทดสอบพบว่า Huawei OceanStor Dorado V3 ให้ TCO ต่ำกว่าระบบสตอเรจแบบไฮบริดถึง 73% ทั้งยังมีต้นทุนในการบำรุงรักษาต่ำ และยังมีผลต่อค่าใช้จ่ายของแผนกไอทีที่จะลดลงอีกจากความเสถียรของเทคโนโลยี SSD ที่ใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน ตลอดจนประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มกว่าระบบทั่วไปถึง 10 เท่า

อย่างไรก็ตามจากการที่เทคโนโลยีสตอเรจแบบรูปแบบใหม่ที่ใช้งานเฉพาะ Solid State นั้นยังเป็นเทคโนโลยีที่มีระดับราคาค่อนข้างสูงกว่าระบบเดิม ดังนั้นในช่วงแรกองค์กรธุรกิจที่สนใจลงทุนจะต้องเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่เล็งเห็นในแง่การลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวในแง่ความปลอดภัยของข้อมูล การลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และช่วยยกระดับในการเข้าถึงข้อมูลให้เร็วขึ้น นอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารจะเป็นกลุ่มหลักที่ลงทุนในสตอเรจรูปแบบใหม่แล้ว ยังมีกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการโอเปอเรเตอร์ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ภาครัฐ และกลุ่มสื่อที่ต้องการผลักดันคอนเทนต์ในรูปแบบ 4K ที่ต้องการความเร็วในการส่งต่อข้อมูล

ดร.จุมพต ภูริทัตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าเทรนด์ของสตอเรจที่ทั่วโลกให้ความสนใจตอนนี้คือกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฮาร์ดดิสก์ในรูปแบบจานแม่เหล็กมาเป็น Solid State ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการดูแลรักษา เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รองรับปริมาณ Big Data ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสตอเรจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบันกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นพื้นฐานให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สตอเรจของหัวเว่ยก้าวขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ในจีน มีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 2 ในตลาดโลก เมื่อมองในแง่ของการจัดส่งสินค้าสู่ท้องตลาดจะอยู่ในอันดับ 4 ของโลก มีทีมวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันเทคโนโลยีสตอเรจมากกว่า 3,200 ราย มีการจดสิทธิบัตรแล้วมากกว่า 800 รายการ และยังได้รับการจัดอันดับโดย Gartner Magic Quadrant ในปี 2017 ให้อยู่ในตำแหน่ง "Leader" สำหรับตลาดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ General Purpose Array

ทั้งนี้ เป้าหมายของหัวเว่ยคือภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะสร้างรายได้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สตอเรจจากนอกประเทศจีนให้มีสัดส่วนมากขึ้น จากปัจจุบันรายได้จากนอกประเทศจีนอยู่ที่ราว 30% ต่อ 70%

นอกจากนี้หัวเว่ยมีนโยบายให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐอย่างเต็มที่เพื่อสานต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในฐานะผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในประเทศเพื่อให้สามารถเดินหน้าสู่การยกระดับประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย

สำหรับกลยุทธ์ในการผลักดันตลาดในไทย หัวเว่ยมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มสถาบันการเงิน กิจการสาธารณูปโภค ภาครัฐ ภาคคมนาคมขนส่ง ผู้ให้บริการดิจิทัล ภาคการศึกษา และองค์กรขนาดใหญ่ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ในการดำเนินงาน ตลอดจนช่วยกระตุ้นการปรับธุรกิจรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) และสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ทั้งนี้ จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์สตอเรจของหัวเว่ยอย่างต่อเนื่อง ช่วยยืนยันว่าหัวเว่ยได้รับการยอมรับจากองค์กรธุรกิจทั่วโลก โดยล่าสุดหัวเว่ยยังกลายเป็นผู้นำในการผลิตระบบออลสตอเรจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกบนพื้นฐานของการออกแบบ ตั้งแต่ระบบสตอเรจชิป แฟตสตอเรจ อัลกอริทึม ระบบป้องกันความผิดพลาด และยังสามารถลดต้นทุนการเป็นเจ้าของ (Total Cost of Ownership) ซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้ไม่ต่ำกว่า 50% โดยยืนยันได้จากผลการทดสอบของ ESG Lab ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและทดสอบผลิตภัณฑ์ไอทีชั้นนำระดับโลกของสหรัฐอเมริกา