เนื้อหาวันที่ : 2007-10-26 13:35:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1613 views

ก.พลังงาน หาทางออกแท็กซี่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ NGV

ก.พลังงาน หาทางออกแท็กซี่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ NGV ลงตัว พร้อมให้ ปตท. เป็นหัวหอกหลักเร่งปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ และสร้างสถานีบริการ NGV ยืนยันลดผลกระทบแท็กซี่กว่า 50,000 คัน ก่อนเตรียมการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม

ก.พลังงาน หาทางออกแท็กซี่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ NGV ลงตัว พร้อมให้ ปตท. เป็นหัวหอกหลักเร่งปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ และสร้างสถานีบริการ NGV ยืนยันลดผลกระทบแท็กซี่กว่า 50,000 คัน ก่อนเตรียมการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม

.

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในรถแท็กซี่ เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 24ต.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในรถแท็กซี่ ได้มีมติเห็นชอบ แผนการดำเนินงาน ในการส่งเสริมรถแท็กซี่ ที่ใช้เครื่องยนต์ LPG จำนวน 50,000 คัน ให้เป็นรถ NGV เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการปรับขึ้นราคา LPG ของภาครัฐ โดยได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการดังนี้

.

1. การปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ NGV ให้แก่รถแท็กซี่ ทั้งหมด 50,000 คัน โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี และจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะให้การชดเชยแก่ ปตท. ด้วยการอนุญาตส่งออก LPG เป็นกรณีพิเศษ โดยให้ ปตท. ได้ส่วนต่างกำไรระหว่างราคาส่งออกและราคาขาย LPG ในประเทศจากปริมาณ LPG ที่เหลือจากที่กลุ่มรถแท็กซี่ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์แล้ว และลดการใช้ LPG ลง เพื่อนำไปส่งออกแทน (เบื้องต้นคาดว่า จะทำการปรับเปลี่ยนให้แก่รถแท็กซี่ ที่ยังมีอายุใช้งานน้อย จำนวนประมาณ 35,000 คัน และอีกจำนวนประมาณ 15,000 คัน ซึ่งเป็นแท็กซี่รุ่นเก่า ที่จะหมดอายุใช้งานและจะต้องทดแทนด้วยแท็กซี่ใหม่ ซึ่งตามการออกกฎหมายของกระทรวงคมนาคม ที่จะบังคับให้รถแท็กซี่จดทะเบียนใหม่ ต้องเป็นรถ NGV ซึ่งคาดว่าจะใช้บังคับในต้นปี 2551)

.

2. การจัดทำแผนขยายสถานีบริการ NGV ในปัจจุบันของปตท. ให้สอดคล้องกับจำนวนรถแท็กซี่ การสร้างสถานีบริการ NGV ขนาดใหญ่ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ การเพิ่มจำนวนสถานีบริการ NGV ขนาดเล็กในเขตเมือง และสถานีแม่ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสถานีบริการ LPG ในเขตกรุงเทพ ฯ ที่เป็นสถานีบริการ LPG ประจำของกลุ่มรถแท็กซี่ดังกล่าว ให้เป็นสถานีบริการ NGV เพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มรถแท็กซี่ โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท

.

นอกจากนี้ ที่ประชุม ฯ ยังมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ออกประกาศกำหนดคุณภาพ NGV เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ การเข้าไปเจรจากับสถานที่ราชการ ที่สามารถก่อสร้างสถานีบริการ NGV ได้ รวมทั้งแนวทางการประสานกับกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือถึงเรื่องระยะห่างของถนน ตามที่กฎหมายกำหนดในการสร้างสถานีบริการ NGV

.

อนึ่ง ปัจจุบัน มีสถานีบริการ NGV ทั่วประเทศ 188 สถานี อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 97 สถานี อู่ติดตั้งมาตรฐานทั่วประเทศ 21 แห่ง มีผู้ตรวจและทดสอบรถยนต์ทั่วประเทศ 40 แห่ง และรถยนต์ที่ติดตั้ง NGV แล้ว 47,000 คัน ทั้งนี้มีรถแท็กซี่ในเขตกทม. และปริมณฑลประมาณ 65,000 คัน และติดตั้ง NGV แล้ว 15,000 คัน คงเหลือรถแท็กซี่อยู่ประมาณ 50,000 คัน