เนื้อหาวันที่ : 2007-10-25 14:13:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2686 views

ฟอร์ด-มาสด้า ทุ่ม 500 ล้าน ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในไทย

โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ในเมืองไทยที่มีมาตรฐานระดับโลก ถูกยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กเพื่อรองรับตลาดในภูมิภาคอาเซียน แอฟริกาใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจะช่วยสร้างงานในประเทศไทยเพิ่มอีก 8,000 ตำแหน่ง

 

 .

โรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ในเมืองไทยที่มีมาตรฐานระดับโลก ถูกยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กเพื่อรองรับตลาดในภูมิภาคอาเซียน แอฟริกาใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ศูนย์กลางการผลิตใหม่นี้จะช่วยสร้างงานในประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มอีกประมาณ 8,000 ตำแหน่ง

.

ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี และมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประกาศแผนการร่วมลงทุนมูลค่ากว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ในโรงงาน ผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กแห่งใหม่ที่มีสายการผลิตที่ยืดหยุ่นของบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) หรือเอเอที ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ของผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำระดับโลกทั้งสอง โดยผู้บริหารระดับสูงของฟอร์ดและมาสด้าร่วมกันประกาศแผนดังกล่าวในวันนี้ในกรุงเทพมหานคร

.

โรงงานแห่งใหม่ใช้เทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัยมาก ติดตั้งระบบและกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ และมีสายการผลิตที่ยืดหยุ่นสามารถผลิตรถได้หลายรุ่นในสายการผลิตเดียวเช่นเดียวกับที่ใช้ในโรงงานฉางอาน ฟอร์ด มาสด้า ออโตโมบิล ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เพิ่งเปิดดำเนินการที่เมืองนานจิงไปเมื่อเร็วๆ นี้

.

เอเอทีจะเริ่มผลิตรถยนต์ขนาดเล็กหรือประเภท "บี-คาร์" ของฟอร์ดและมาสด้าในพ.ศ. 2552 และในอนาคต เอเอทีจะสามารถรองรับการผลิตรถยนต์ต่างๆ หลายรุ่น รวมไปจนถึงรถยนต์นั่งขนาดกลางด้วย

.

แผนการลงทุนในครั้งนี้ ประกอบด้วยการสร้างไลน์ขึ้นรูปรถยนต์ การประกอบตัวถัง การประกอบรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งส่วนพ่นสีรถยนต์ซึ่งใช้กระบวนการพ่นสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือ กระบวนการพ่นสีแบบ three-wet technology (เทคโนโลยีใหม่สามารถพ่นทับชั้นที่ 2 และ 3 ได้เลย โดยไม่ต้องรอให้สีในแต่ละชั้นแห้ง) ที่สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดปริมาณฝุ่นละออง (VOC) ลงอย่างเห็นได้ชัด รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพการพ่นสีที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการขยายพื้นที่คลังเก็บรถยนต์ที่ผลิตเสร็จแล้วเพื่อรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และการสร้างโรงอาหารใหม่สำหรับพนักงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

.

ทั้งนี้ฟอร์ดและมาสด้าได้ลงทุนร่วมกันเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท แล้วในโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ (เอเอที) แห่งนี้ การลงทุนเพิ่มครั้งใหม่จะตอกย้ำถึงความสำคัญของโรงงาน เอเอที ในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคของฟอร์ดและมาสด้า รวมทั้งแสดงถึงความมั่นใจของทั้งสองบริษัทฯ ว่าโรงงานแห่งนี้จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่โรงงานเอเอทีได้ฉลองยอดการผลิตรถกระบะครบหนึ่งล้านคันไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นการบรรลุเป้าหมายการผลิตก่อนแผนที่วางไว้ถึงสองปี

.

..

"การลงทุนในครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่เรามีต่อประเทศไทย ทั้งยังช่วยสนับสนุนในฟอร์ดมีส่วนร่วมในการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน และผลักดันให้ธุรกิจยานยนต์ในภูมิภาคนี้เติบโตขึ้น" มร. จอห์น ปาร์คเกอร์ รองประธานบริหาร ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและ แอฟริกากล่าว ฟอร์ดและมาสด้าเป็นพันธมิตรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรายหนึ่งในอุตสาหกรรม ยานยนต์ และแน่นอนว่าโรงงานเอเอทียังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของทั้งสองบริษัทเช่นเดียวกับ ที่ผ่านมา"

.

ในการร่วมลงทุนครั้งใหม่นี้ ฟอร์ดและมาสด้าจะลงทุนในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตรวมของโรงงานเอเอที ทั้งรถยนต์สำเร็จรูป (CBU) และชิ้นส่วนรถยนต์ (CKD) จาก 175,000 คันต่อปีในปัจจุบัน เป็นสูงสุดถึง 275,000 คันต่อปี นอกจากการผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ยังจะส่งรถยนต์นั่งขนาดเล็กนี้ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ด้วย

.

"รถยนต์ขนาดเล็ก จะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ของเราทั้งในภูมิภาคนี้และระดับโลก รถยนต์ขนาดเล็กของเรามีข้อได้เปรียบตรงที่มีความสมดุลย์ทั้งความประหยัดน้ำมันและความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างดีในตลาดโลก" มร. ปาร์คเกอร์กล่าวเสริม

.

โรงงานเอเอที มีมาตรฐานระดับโลกและเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตที่มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจุบันผลิตรถกระบะฟอร์ด และมาสด้าเพื่อส่งออกไปยังกว่า 130 ประเทศทั่วโลก จากการผสานจุดแข็งของฟอร์ดและมาสด้าในการทำงาน โรงงานเอเอทีได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการยึดมั่นในคุณภาพการผลิต และการดำเนินการตามมาตรฐานและระเบียบปฏิบัติซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาโดยตลอด

.

"บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเรา ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในการผสานจุดแข็งของพันธมิตร ฟอร์ดและมาสด้ามร. โรเบิร์ต กราเซียโน รองประธานบริหาร มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าว การลงทุนครั้งนี้จะทำให้เราสามารถขยายศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ประจำภูมิภาคอาเซียน และสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจจากความชำนาญและความสำเร็จในประเทศไทยของโรงงานเอเอทีได้เป็นอย่างดี"

.

 

.

"นอกจากการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า การลงทุนเพิ่มขึ้นในโรงงานเอเอทีครั้งนี้ยังจะเอื้อประโยชน์ในด้านอื่นให้แก่ประเทศไทย ทั้งการสร้างงาน การสนับสนุนธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่เศรษฐกิจไทย" มร. กราเซียโนกล่าวเสริม

 .

ในปัจจุบัน โรงงานเอเอทีสั่งซื้อชิ้นส่วนในแต่ละปี มูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท (1.72 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากผู้ผลิตชิ้นส่วน 177 ราย ซึ่งประมาณร้อยละ 90 เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย ทำให้โรงงาน เอเอทีมีเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ

 .

ปัจจุบันโรงงานเอเอทีมีพนักงานประมาณ 3,600 คน ที่รวมถึงวิศวกร ช่างเทคนิค และช่างประกอบรถยนต์ที่มีความชำนาญสูง หลังจากการลงทุนในครั้งนี้ เมื่อโรงงานดังกล่าวเริ่มการผลิตในพ.ศ. 2552 โรงงานเอเอทีจะจ้างพนักงานเพิ่มอีก 2,000 ตำแหน่ง และส่งผลให้มีการสร้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 6,000 ตำแหน่ง

 .

เมื่อ พ.ศ. 2538 ฟอร์ดและมาสด้า ได้ตกลงร่วมกันให้ประเทศไทยเป็นฐานในการลงทุนแและการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยได้ก่อตั้งบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ

 .

หลังจากที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปีเดียวกันนั้น เอเอทีได้ลงทุนกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย มีกระบวนการผลิตครบวงจร นับตั้งแต่การขึ้นรูปตัวถัง การประกอบตัวถัง การพ่นสี การประกอบเครื่องยนต์ การประกอบรายละเอียดขั้นสุดท้าย และส่วนบรรจุชิ้นส่วนรถยนต์ (CKD) โดยโรงงานตั้งอยู่บนพื้นที่ 529 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง

 .

นอกเหนือจากความสำเร็จในด้านการผลิตแล้ว เอเอทีและพนักงานยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบมาโดยตลอด รวมทั้งโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ตั้งแต่การบริจาคเพื่อสนับสนุนการจัดซื้ออุปกรณ์การศึกษา ไปจนถึงอาสาสมัครบรรเทาทุกข์ในภาวะวิกฤติ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย