เนื้อหาวันที่ : 2007-10-16 09:58:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2349 views

ค่ารถเมล์ขึ้นส่งผลต่อจิตวิทยาคนกรุง

ขสมก.และรถร่วมบริการ ปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ - 1 บาท กระทบต่อรายจ่ายของประชาชนประมาณ 1.5% ต่อวัน มีผลมากในด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะคนทำงานที่มีรายได้คงที่ และต้องเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง

.

ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายวิชาพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเรียกร้องขึ้นค่ารถโดยสารของขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการว่า หากมีการปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ - 1 บาท จริงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไม่มากนัก เนื่องจากเมื่อเทียบกับราคาค่าบริการเดิมคือต่ำสุด 7 บาท หากเพิ่มขึ้นเป็น 7.50 บาทแล้ว ราคาที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 7.1% ซึ่งหากนำมาเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือ 191 บาทต่อวันแล้ว ค่ารถโดยสารที่ปรับขึ้นจะกระทบต่อรายจ่ายของประชาชนประมาณ 1.5% ต่อวัน จึงคิดว่าน่าจะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่จะมีผลมากในด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะคนทำงานที่มีรายได้คงที่ และต้องเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางทุกวัน อย่างไรก็ตามค่ารถโดยสารที่จะปรับขึ้น 50 สตางค์ หรือ 7.1% นี้ถือเป็นราคาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการชดเชยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว และคิดว่าไม่ควรขึ้นราคาค่าโดยสารไปมากกว่านี้

.

"ราคาน้ำมันและค่ารถโดยสารที่เพิ่มขึ้นนี้ยังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการอื่นๆตามไปด้วย ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าสินค้าและบริการไม่ควรขึ้นราคาทุกชนิด แต่ควรพิจารณาเฉพาะสินค้าหรือบริการที่ต้องพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตและขนส่งในสัดส่วนที่สูงเท่านั้น และไม่ควรเพิ่มขึ้นมากนัก ควรปรับขึ้นให้เหมาะสมกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น คือ ประมาณ 1-2% หรือ ไม่เกิน 3% ของราคาต้นทุน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพืชผักผลไม้ ซึ่งราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลกระทบกับประชาชนบ้างพอสมควร"

.

ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์

ประธานสายวิชาพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)

.
อย่างไรก็ดี หากกล่าวถึงราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นขณะนี้นั้น ผศ.ดร.จำนง กล่าวว่า เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น 3% โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดียที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การสำรวจพบแหล่งน้ำมันดิบใหม่มีเพียง 0.3% หรือน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำมันถึง 10 เท่า อีกทั้งการขยายกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้การที่น้ำมันสำรองในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นมีระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนที่กำลังก่อตัวขึ้นในอ่าวเม็กซิโก อาจทำให้การผลิตน้ำมันดิบจากอ่าวเม็กซิโกต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นเกินกว่า 80 เหรียญต่อบาร์เรล แต่คาดว่าราคาที่สูงขึ้นเกินกว่า 80 เหรียญนี้ มีแนวโน้มว่าจะเริ่มชะลอตัวลง ดังนั้น แนวโน้มของอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในอนาคตระยะสั้นคาดว่า จะไม่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นที่ผ่านมา
.

"ทางออกด้านพลังงานในระยะปานกลางคือภาคขนส่งต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกลง อาทิ ก๊าซ NGV ซึ่งมีราคาต่ำกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซลถึง 3 เท่า แต่ขณะนี้ยังมีอุปสรรคด้านการลงทุนครั้งแรกเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และสถานีเติมก๊าซ NGV ยังมีไม่ทั่วถึงในทุกพื้นที่อย่างเพียงพอ ดังนั้น ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าติดตั้งอุปกรณ์สำหรับรถโดยสาร และการขยายสถานีเติมก๊าซในพื้นที่บริการต่าง ๆ ให้มีมากขึ้น หากมีการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิง NGV จะช่วยประหยัดได้มากในระยะยาว และจะไม่มีปัญหาเรื่องการขอขึ้นค่าโดยสารบ่อย ๆ เนื่องจากราคาก๊าซที่ถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงมาก

.

ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการรถโดยสารให้มีกำไรมากขึ้น และสามารถนำส่วนต่างค่าเชื้อเพลิงไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพของรถโดยสารให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร แต่ในระยะยาวประเทศไทยควรเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบขนส่งให้เป็นระบบรางและทางน้ำ ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าระบบถนนอย่างมาก และควรเร่งดำเนินการอย่างจริงจังนับแต่บัดนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป เนื่องจากคาดว่าการผลิตน้ำมันทั่วโลกใกล้ถึงจุดสูงสุด (peak oil) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ผศ.ดร.จำนง กล่าว