เนื้อหาวันที่ : 2017-10-04 18:00:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1401 views

ไมโครซอฟท์พบองค์กรไทยต้องลงทุนกับวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานเพื่อประกันความสำเร็จในการปฎิรูปธุรกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัล

  • ผลสำรวจของไมโครซอฟท์พบว่าร้อยละ 54 ของคนทำงานไทยคาดหวังให้องค์กรลงทุนเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะเชิงดิจิทัล

ผลสำรวจของไมโครซอฟท์เผยว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการทำงานของประเทศไทยส่งผลให้องค์กรต้องปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานเพื่อบรรลุผลสำเร็จในการปฏิรูปธุรกิจด้วยนวัตกรรมดิจิทัล โดยร้อยละ 54 รู้สึกว่าองค์กรของตนควรมีบทบาทมากขึ้นในด้านการพัฒนาวัฒนธรรม
ผลสำรวจพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมในการทำงานปัจจุบันคือ
1. การทำงานนอกสถานที่และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น – การขยายตัวของการทำงานแบบโมบิลิตี้และการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีคลาวด์และโมบายล์ส่งผลให้พนักงานสามารถทำงานจากหลายสถานที่บนอุปกรณ์หลายชนิดได้ โดยผลสำรวจพบว่ามีพนักงานเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่ใช้เวลาทำงานทั้งหมดอยู่ในออฟฟิศ ขณะที่กว่าร้อยละ 88 ทำงานบนสมาร์ทโฟนส่วนตัว ซึ่งถือเป็นความท้าทายขององค์กรด้านความปลอดภัยในการทำงาน
2. มิติของการทำงานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น – ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 43 ของคนทำงานในประเทศไทยทำงานร่วมกับผู้อื่นมากกว่า 10 ทีมในเวลาเดียวกัน ดังนั้นความพร้อมของข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์และเครื่องมือสำหรับทำงานร่วมกันให้ทำงานสำเร็จลุล่วงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
3. ช่องว่างที่เกิดจากการขาดทักษะด้านดิจิทัลของพนักงานที่เพียงพอ – ถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่มากมายที่ถูกนำมาปรับใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับพบว่าไม่ได้มีการใช้งานจริงอย่างกว้างขวางเท่าที่ควร โดยจากผลสำรวจกว่าร้อยละ 54 ยังเชื่อว่าองค์กรควรมุ่งมั่นพัฒนาทักษะดิจิทัลของพนักงานให้มากกว่านี้
นางสาวทาเทียน่า มารัชเชฟสกาย่า ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่ไปกับการเริ่มทำงานของคนยุคใหม่ อย่างกลุ่มมิลเลนเนียล ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความคาดหวัง องค์ความรู้ และทักษะของคนทำงานยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน เนื่องจากครึ่งหนึ่งของประชากรกลุ่มมิลเลนเนียลทั่วโลกอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย องค์กรต่าง ๆ จึงต้องปรับตัวเพื่อให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้นจากการนำเทคโนโลยีที่เกิดใหม่และล้ำหน้าเข้ามาใช้งาน องค์กรจึงจำเป็นต้องพิจารณาการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้กับพนักงานเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์และการวางกลยุทธ์ให้พวกเขาในอนาคต

ความพร้อมของวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานสู่ความสำเร็จจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล
ถึงแม้ว่าร้อยละ 89 ของผู้นำภาคธุรกิจไทยจะเห็นว่าทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลเพื่อผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายแล้วทรัพยากรมนุษย์ก็ยังคงมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล
“คนคือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ความคาดหวัง องค์ความรู้และทักษะ รวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระดับความสำเร็จที่จะได้รับจากการปฏิรูปองค์กร ความท้าทายขององค์กรในปัจจุบันคือการนำวัฒนธรรมในการทำงานยุคใหม่เข้ามาใช้เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเสริมศักยภาพคนทำงานในเอเชีย โดยเฉพาะพนักงานส่วนหน้าที่ต้องพบปะกับบุคคลภายนอกอยู่เสมอ ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก และนับเป็นกลุ่มคนทำงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตอนนี้” นางสาวทาเทียน่า มารัชเชฟสกาย่า กล่าวเสริม
ทุกวันนี้พนักงานที่ทำงานส่วนหน้าเปรียบเสมือนด่านแรกในการเชื่อมต่อระหว่างบริษัทกับส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเป็นลำดับแรก เป็นตัวแทนของแบรนด์ และยังได้สัมผัสผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเสริมศักยภาพของพนักงาน องค์กรจำเป็นต้องหาหนทางและยกระดับพนักงานโดยเฉพาะพนักงานส่วนหน้า ด้วยการมุ่งพัฒนาแนวคิดขององค์กรกับวัฒนธรรมใหม่ในการทำงาน
1. ปลดปล่อยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ให้พนักงาน การทำงานร่วมกันอาจก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ผ่านทางการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ระหว่างกัน ทั้งยังช่วยเสริมให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกันผ่านหลากหลายดีไวซ์ อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจยังพบว่าพนักงานถึงร้อยละ 64 ต้องเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ เพราะว่าเครื่องมือและอุปกรณ์สำคัญที่สามารถใช้ได้จากในออฟฟิศเท่านั้น
2. เสริมพลังการทำงานเป็นทีม การจัดหาชุดเครื่องมือให้พนักงานทุกคนได้ใช้ทำงานร่วมกันอย่างทั่วถึงจะช่วยให้พนักงานในองค์กรสามารถเลือกวิธีการทำงานร่วมกันในแบบเรียลไทม์ได้ด้วยตนเอง จากผลสำรวจร้อยละ 49 พบว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการทำงานร่วมกันสามารถช่วยให้พวกเขาตอบสนองต่อคำขอจากเพื่อนร่วมงานและบุคคลภายนอกได้รวดเร็วขึ้น จึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน
3. เพิ่มความมั่นคงด้านความปลอดภัย ร้อยละ 80 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจระบุว่าพวกเขาทำงานบนคอมพิวเตอร์ของบริษัท แต่ในขณะเดียวกันกว่าร้อยละ 88 เลือกใช้สมาร์ทโฟนส่วนตัวในการทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสำหรับองค์กร นอกจากนี้กว่าร้อยละ 73 ยังเช็คอีเมลส่วนตัวจากอุปกรณ์ของบริษัทเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง ดังนั้นผู้นำธุรกิจจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างระบบด้านความปลอดภัยขององค์กรเพื่อให้ข้อมูลลับขององค์กรไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงโดยที่ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงานด้วย
4. ปรับระบบให้เรียบง่าย ด้วยการเติบโตของแอพพลิเคชัน ดีไวซ์ บริการและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยใจสถานที่ทำงาน งานบริหารจัดการระบบไอทีจึงทวีความซับซ้อนขึ้นจนต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เรียบง่าย เปิดโอกาสให้บริการต่าง ๆ ในองค์กรสามารถแบ่งปันและรวบรวมข้อมูลกันได้ ผลสำรวจจากผู้นำธุรกิจไอทีของไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิกพบว่าร้อยละ 76 ของผู้บริหารด้านไอทีในประเทศไทย เห็นด้วยว่าการลดความซับซ้อนของการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านไอทีนั้นมีความจำเป็น

เทคโนโลยีคือองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้คนทำงานส่วนหน้าประสบความสำเร็จในการปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล
“เราเชื่อว่าพนักงานทุกคนตั้งแต่คนทำงานหลังบ้าน อย่างเช่น ในโรงงาน คนทำงานหน้าบ้าน ไปจนถึงระดับผู้บริหาร ล้วนมีบทบาทในความสำเร็จขององค์กรด้วยกันทั้งสิ้น และเราเชื่อว่าการให้ความสำคัญกับคนทำงานหน้าบ้านนั้นส่งเสริมการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล สามารถสร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลต่อคน องค์กร รวมถึงสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม ไมโครซอฟท์เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการช่วยเปิดโอกาสให้คนทำงานส่วนหน้าได้ทำงานกับเครื่องมือที่ถูกต้อง เช่น Microsoft 365 ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะสำเร็จได้เมื่อใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามเนื้องานเพื่อยกระดับการทำงานได้อย่างเต็มรูปแบบ” นายวิสสุต เมธีสุวกุล ผู้จัดการอาวุโสผลิตภัณฑ์ออฟฟิศ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติม


นายวิสสุต เมธีสุวกุล ผู้จัดการอาวุโสผลิตภัณฑ์ออฟฟิศ
บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

ไมโครซอฟท์ได้ประกาศขยายชุดโซลูชั่น Microsoft 365 ให้ตอบโจทย์ดังกล่าว โดยรวมถึงแพ็กเกจ Microsoft 365 F1 เพื่อพนักงานส่วนหน้าโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมในการทำงานและสังคมของพนักงานส่วนหน้า รวมถึงอบรมและเสริมทักษะให้พนักงาน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ เพิ่มความเชี่ยวชาญแบบเรียลไทม์ ลดความเสี่ยงและต้นทุนธุรกิจ ความสามารถใหม่ในการค้นหาแบบอัจฉริยะ มิติใหม่แห่งการสื่อสารบน Microsoft Teams การปรับปรุงระบบความปลอดภัยและการบริหารจัดการด้านไอทีที่ดีขึ้นเพื่อช่วยให้องค์กรทั้งปลอดภัยและปฎิบัติงานได้ตามมาตรฐาน

  • Microsoft 365 F1 ได้รวม Office 365, Windows 10 และ Enterprise Mobility + Security เข้าไว้ด้วยกันเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนพนักงานส่วนหน้ากว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงจุดแรกในการติดต่อสื่อสารระหว่างลูกค้ากับบริษัท หรือพนักงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์
  • ความสามารถของ Skype for Business Online บน Microsoft Teams มิติใหม่แห่งการติดต่อสื่อสารแบบอัจฉริยะ มาพร้อมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทุกระดับ ทำให้ Teams เป็นศูนย์รวมการทำงานกลุ่มบน Office 365 ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งรวมการสนทนาด้วยเสียง ภาพ หรือแชตแบบต่อเนื่อง
  • การค้นหาแบบอัจฉริยะ ใช้ AI และแมชีนเลิร์นนิ่งเพื่อค้นหาผลข้อมูลที่ใกล้เคียงมากที่สุดบนทุกที่ในการค้นหาผ่าน Microsoft 365
  • Microsoft 365 พัฒนา Advanced Threat Protection (ATP) ขึ้นมาอีกระดับด้วยการปรับปรุงความสามารถในการป้องกันการล่อลวงทางอินเทอร์เน็ต (Phishing) ขยายขีดความสามารถในการป้องกันของ SharePoint Online, OneDrive for Business และ Microsoft Teams รวมถึงความสามารถในการตรวจจับการคุกคามทางไซเบอร์ที่แยกได้ทั้งบนคลาวด์และบนเครื่อง

ปรับเปลี่ยนการทำงานของพนักงานส่วนหน้าให้ทันสมัยด้วย Microsoft Cloud
สำหรับองค์กรที่ยังใช้ Office 2007 ไมโครซอฟท์ขอแจ้งให้ทราบว่าการสนับสนุนซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ และขอแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้งาน Office 365 หรือ Microsoft 365 เพื่อรับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากไมโครซอฟท์
“ปัจจุบันเครื่องมือเสริมศักยภาพการทำงานบนคลาวด์มีบทบาทสำคัญในการเสริมศักยภาพให้คนทำงานยุคใหม่ทั่วเอเชียให้มีความคล่องตัวสูงขึ้น สามารถทำงานร่วมกันข้ามทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราแนะนำให้ให้องค์กรพิจารณา Microsoft 365 เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยเสริมศักยภาพคนทำงานให้ทันยุคดิจิทัลนี้” นายวิสสุต เมธีสุวกุล กล่าวเสริม
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Microsoft 365 ได้ที่ https://www.microsoft.com/th-th/microsoft-365