เนื้อหาวันที่ : 2007-10-02 14:45:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1881 views

ฮอนด้า ประเดิมอีโค่คาร์รถยนต์ประหยัดพลังงานรายแรก

บอร์ดบีโอไอส่งเสริมการลงทุน 7 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 25,993 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่ายฮอนด้าประเดิมลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงานรายแรก ยักษ์ใหญ่ ปตท. กับ ดั๊บเบิ้ลเอ เดินหน้าขยายการลงทุน

บอร์ดบีโอไอส่งเสริมการลงทุน 7 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 25,993 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่ายฮอนด้าประเดิมลงทุนรถยนต์ประหยัดพลังงานรายแรก ยักษ์ใหญ่ ปตท. กับ ดั๊บเบิ้ลเอ เดินหน้าขยายการลงทุน         

.

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการลงทุนทั้งสิ้น 7 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 25,993 ล้านบาท

.

กิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco-Car) ของ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโครงการรวม (Package) ที่มีการประกอบรถยนต์ ผลิตเครื่องยนต์ และผลิตชิ้นส่วน เงินลงทุน 6,700 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ของฮอนด้า 3,800 ล้านบาท และการผลิตชิ้นส่วนของฮอนด้าและผู้รับช่วงการผลิต 2,900 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1,300 ซีซี ใช้น้ำมันไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กม. มาตรฐานมลพิษ EURO 4, ปล่อย Co2 ไม่เกิน 120 กรัม/กม.และมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยตามมาตรฐาน UNECE ตามแผนจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 และส่งออกไปยังตลาดในอาเซียน เอเชียแปซิฟิค และยุโรป ร้อยละ 50 โดยจะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศร้อยละ 70 หรือปีละประมาณ 12,174ล้านบาท ตั้งโรงงานที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

.

กิจการตัดและแปรรูปโลหะแผ่น และผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป ของบริษัท ทีที สตีล โปรเซสซิ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท มีกำลังการตัดและแปรรูปโลหะแผ่น ปีละประมาณ 1,100,000 ชิ้น และชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปปีละ 4,400,000 ชิ้น เพื่อป้อนให้กับการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของกลุ่มโตโยต้า โดยจะใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้น อาทิเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบ มูลค่าปีละประมาณ 2,544 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา

.

กิจการผลิตกระดาษพิมพ์เขียนชนิดไม่เคลือบผิว ของบริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ เปเปอร์ จำกัด   เงินลงทุน 7,500 ล้านบาท มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 420,000 ตัน จำหน่ายในประเทศภายใต้แบรนด์ "DOUBLE A" ร้อยละ 30 และจำหน่ายในตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 70 โดยจะใช้วัตถุดิบในประเทศ อาทิ เยื่อใยสั้น แป้งดัดแปลง มูลค่าปีละประมาณ 6,235 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่เขตอุตสาหกรรมบริษัท 304 อินดัสเตรียลปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี

.

กิจการผลิตเคมีภัณฑ์ BUTENE-1 และ PROPYLENE (ขยายกิจการ) ของ บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 2,811 ล้านบาท มีกำลังการผลิต BUTENE-1 ปีละประมาณ 40,000 ตัน และ PROPYLENE ปีละประมาณ 71,000 ตัน โดยจะจำหน่ายในประเทศให้กับบริษัทในเครือ ปตท. ทั้งหมด ใช้วัตถุดิบในประเทศ อาทิ เอทิลีน และ MIXED C4 มูลค่ารวมปีละ 2,583 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

.

กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 90 ตันต่อชั่วโมง โดยจะจำหน่ายให้กับ    โรงกลั่นน้ำมันบางจาก จะใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งสิ้น คือก๊าซธรรมชาติ และน้ำ มูลค่าปีละประมาณ 653 ล้านบาท ตั้งภายในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร

.

กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ของ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด เงินลงทุน 3,782 ล้านบาท ให้บริการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ปีละประมาณ 1,750,000 ทีอียู โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท Hutchinson Port Holding Limited (HPH) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจบริหารท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ 5 แห่งของโลก มีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้ามากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งโครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบขนส่งของไทย โครงการจะตั้งที่ท่าเทียบเรือ C1 และ C2 ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

.

กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล  (ขยายกิจการ) ของ บริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท ให้บริการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซ ปีละประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเพิ่มขึ้น โครงการจะตั้งภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง