เนื้อหาวันที่ : 2017-09-20 13:32:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1402 views

ทีซีซีเทค ผนึกกำลังสมาคมฟินเทคฯ และไอดีซี ติดปีกฟินเทคไทยให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาคเอเชีย

จากแผน “Digital Thailand” ของภาครัฐที่มุ่งเน้นการวางรากฐานด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรของประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ สู่โอกาสทองของสตาร์ทอัพไทย โดยเฉพาะ “ฟินเทค สตาร์ทอัพ” ซึ่งใครหลาย ๆ คน ต่างยกให้เป็นธุรกิจที่จะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา

มีหลายกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพของฟินเทคไทย อาทิ Fintech Dynamics in Asia งานใหญ่ที่รวมความร่วมมือจากองค์กรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ นำโดย บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด หรือ ทีซีซีเทค (TCCtech) ผู้ให้บริการเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสัญชาติไทย ภายใต้อาณาจักรเครือของทีซีซี หนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผนึกกำลังกับสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย (TFTA) และบริษัทวิจัยระดับโลก International Data Corporation (IDC)

โดย นางวลีพร สายะสิต ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารองค์กร บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด ได้เผยถึงเป้าหมายหลักในการเปิดเวทีสัมมนาครั้งนี้ เพื่อต้องการเปิดกว้างในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งจากนักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมฟินเทค สถาบันการเงินต่าง ๆ และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจฟินเทค พร้อมอัพเดทความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีฟินเทคในแถบภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนวางแผนที่จะนำเสนอ Cloud Platform เพื่อให้เกิดการทดสอบเทคโนโลยีด้านการเงิน และร่วมกันสร้างสรรค์ (Co-Creation) โซลูชันที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการฟินเทคอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ นายอัครเดช ดิษยเดช กรรมการผู้จัดการ สมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดเวที Fintech Dynamics in Asia เสริมว่า “เวทีนี้จัดขึ้นให้กับสมาชิกของสมาคมฟินเทคฯ และผมหวังว่ามันจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยีฟินเทคแก่ทุกท่าน” ทั้งนี้ทางสมาคมฯ เปิดกว้างสำหรับประชาชนหรือผู้ที่สนใจเทคโนโลยีด้านฟินเทคสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ ThaiFintech.org 

การเติบโตของฟินเทคเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีฟินเทค เป็นกระแสที่มาแรงและมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก นายไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ (IDC Financial Insights) ได้อธิบายให้เห็นภาพว่า แม้แต่ผู้คุมกฎระเบียบ (Regulator) ยังมีแนวโน้มในการกำหนดเป้าหมายให้ตนเองเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในเทคโนโลยีการเงิน (Financial Technology) มีการลงทุนในโครงการที่ให้ความรู้ บ่มเพาะ ฟินเทค สตาร์ทอัพในรูปแบบของ Accelerators และ Incubators รวมถึงการลงทุนในซอฟต์แวร์ที่มีการปฎิสัมพันธ์กับผู้บริโภคในฐานะผู้ร่วมผลิต (Co-creator) พร้อมกันนี้ได้ระบุว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมด้านการเงินการธนาคาร รวมกว่า 20 ประเภท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2561

ท่ามกลางโอกาสยังมีแรงกดดันเกิดขึ้นในฝั่งของธนาคารซึ่งถือเป็นผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรม ที่ไม่เพียงจะต้องทำงานกับเหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพ ฟินเทคเท่านั้น แต่จะต้องทำงานกับผู้อื่นที่อยู่นอกกลุ่มบริการทางการเงินด้วย (Cross Industry Collaboration) โดยรองประธานบริหาร ไอดีซี ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพฟินเทคเพิ่มว่า “นี่เป็นยุคที่เราต้องร่วมมือกัน ดังนั้นจงอย่ากลัวธนาคารใหญ่ ๆ ที่แม้ว่าพวกเขาจะเคยมองบริษัทฟินเทค เป็นศัตรู แต่ปัจจุบันได้เปิดกว้างสำหรับความร่วมมือที่นำไปสู่ความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเรา”

ตามสถิติของ IDC Financial Insight จาก 33 ความร่วมมือทางเทคโนโลยีฟินเทคที่ประสบความสำเร็จ นายอะราเน็ตตา กล่าวว่าระยะเวลาเฉลี่ยสำหรับความร่วมมือระหว่างฟินเทคและธนาคาร เริ่มจากเป็นแนวคิดจนออกสู่ตลาดนั้น ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนานสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ อันเป็นผลมาจากกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ “ธุรกิจสตาร์ทอัพ ฟินเทค ส่วนใหญ่ ซึ่งคิดเป็น 61% จาก 33 ความร่วมมือทางเทคโนโลยีฟินเทคใช้เวลาดำเนินการจากแนวคิดไปสู่การทดสอบความเป็นไปได้ (Proof of Concept: POC) ภายใน 6 เดือน และ 75% ใช้เวลาจาก POC ไปสู่การจ้างงานอีกประมาณ 6 เดือน” ดังนั้นจะเห็นแนวโน้มที่ผู้คุมกฎแข่งขันกันเอง เพื่อเปิดกว้างและสร้างสรรค์ขึ้น โดยคาดว่าปี 2560 จะเป็นปีที่ผู้คุมกฎหลายๆ แห่ง ผ่อนปรนแนวปฏิบัติลง

เทคโนโลยี Cloud ตัวแปรสำคัญดันฟินเทคโต

นอกจากความจำเป็นที่ต้องทำงานร่วมกับผู้คุมกฎระเบียบ (Requlator) และจ้างผู้ที่มีความสามารถที่จำเป็นต่อองค์กร อีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งนายอะราเน็ตตา ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจฟินเทคให้ประสบความสำเร็จ นั้นคือ “เทคโนโลยี” เขาได้ย้ำเมื่อกล่าวถึงผลกระทบจาก Disruptive Technologies ว่า “เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ คุณควรเลือกทำงานกับผู้ให้บริการเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมืออาชีพ ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลอย่างแท้จริง อย่างเช่น ที.ซี.ซี. เทคโนโลยีและต้องมองหาแพลตฟอร์ม สำหรับ Data Acquisition, Transportation, Transformation และ Storage รวมถึงศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล การแสดงผลอย่างเป็นระบบเพื่อง่ายต่อการตีความหรือนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการควบคุมความปลอดภัยและการเข้าถึง”

รวมเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานตัวจริง

(ซ้ายไปขวา: นายนเรศ เหล่าพรรณราย COO Stockquadrant และ นายวรพล พรวาณิชย์ CEO และผู้ก่อตั้ง Peerpower)  

นายนเรศ เหล่าพรรณราย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการจาก StockQuadrant ซึ่งเป็นฟินเทค สายวิเคราะห์การลงทุน เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารที่เห็นด้วยกับความสำคัญของเทคโนโลยี โดยเผยว่า “สิ่งที่เป็นหัวใจหลักในการลดต้นทุนด้านการจัดการเงินทุน ต้องยกให้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะตอบโจทย์กลยุทธ์การขายได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรบุคคล” ในทางกลับกัน นายวรพล พรวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารเพียร์พาวเวอร์ (www.peerpower.co.th) ได้เสริมในความสำคัญเรื่องการใช้โครงสร้างพื้นฐานแบบ Cloud ตั้งแต่ช่วงแรกของการพัฒนาบริษัทว่า “ตอนนั้นเราเป็นบริษัทใหม่ การสร้างบริษัทโดยใช้ Cloud มันง่ายกว่ามาก ด้วยรูปแบบ “Pay As You Go” เมื่อคุณรู้ขอบเขตและเข้าใจความต้องการของตนเอง คุณจะกำหนดวงเงินสำหรับมันได้”

อีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่สำคัญ ดร.ต่อตระกูล คงทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ ลอจิสติกส์ จำกัด ได้กล่าวถึงประโยชน์ของ Cloud ในมุมที่สอดรับกับงานที่ต้องการการคำนวณมาก ๆ (Compute-intensive) งานที่มีหน่วยประมวลผลแสดงภาพทางกราฟิก (Graphics Processing Unit: GPU) ซึ่งสามารถช่วยในการคำนวณข้อมูลขนาดใหญ่ (Number Crunching) การแชร์ข้อมูลของเซิร์ฟเวอร์หนึ่งแบบ 200 หน่วยประมวลผล จะใช้เวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ ในขณะที่ GPU สามารถทำเสร็จเพียงใน 1 วัน โดยคุณวรพล ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับทางเพียร์พาวเวอร์ ว่า “ตอนที่เครื่องมือจัดการเครดิตของผมทำการจำลองและทดสอบระบบ ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 5 ชั่วโมงสำหรับ CPU แบบดั้งเดิม แต่มันใช้เวลาน้อยกว่าครึ่งชั่วโมงด้วย GPU”

ท้ายที่สุด ความถี่ของงานนั้น ๆ น่าจะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกใช้ GPU แทนที่ CPU เนื่องด้วยการคำนวณส่วนใหญ่ต้องทำมากกว่าหนึ่งครั้ง ดร.ต่อตระกูลเสริมว่า “ถ้าคุณกำลังวิเคราะห์พฤติกรรมหรือกำลังเรียนรู้เครื่องจักร คุณจะสามารถรอสักสองสัปดาห์ได้หรือไม่ และถ้ามันไม่เวิร์ค คุณสามารถรออีกสองสัปดาห์ได้ไหม? ผมคิดว่าทีซีซีเทค เข้าใจในข้อจำกัดดังกล่าวและพวกเขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเสนอ GPU as a service เพื่อลดงานด้านการแสดงผลของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ต่อไปในอนาคต ”

Thailand’s Leading Carrier-Neutral Data Center Provider

ปัจจุบันบริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ผสานบริการคลาวด์ Cloud-Enabled Data Center ซึ่งเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีความปลอดภัย ตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง กรุงเทพฯ ดาต้าเซ็นเตอร์ย่าน ตะวันออกของกรุงเทพฯ ดาต้าเซ็นเตอร์ในย่าน นิคมอุตสาหกรรม และดาต้าเซ็นเตอร์ระหว่างประเทศ ผ่านทางพันธมิตรกลุ่ม Asia Data Center Alliance (ADCA) ทั้ง 5 ประเทศ ที่สำคัญ ทีซีซีเทค ยังเป็นผู้ให้บริการ Data Center ระดับพรีเมี่ยม ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายแบบครบวงจร

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมว่าแพลตฟอร์มของ ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี สามารถช่วยสนันสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในการเริ่มต้นด้วย Cloud และช่วยธุรกิจต่าง ๆ ไปสู่การปฏิวัติดิจิตอลได้อย่างไร ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ www.tcc-technology.com

ในส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ อาทิ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จสู่อุตสาหกรรมฟินเทค ข้อจำกัดและความท้าทายต่าง ๆ รวมถึง Top Technology Predictions ฯลฯ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://goo.gl/Aewmn1