เนื้อหาวันที่ : 2007-10-02 12:25:40 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 807 views

บีโอไอ หนุนภาคอุตสาหกรรม ทำมาตรฐาน ISO 14000 ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม

บีโอไอ ยกระดับคุณภาพโรงงานอุตสาหกรรม หนุนผู้ประกอบการเพิ่มมาตรฐาน ISO 14000 หวังร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้ 

.

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและมีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ต้องดำเนินการให้ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 14000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 เป็นต้นไป 

.

ส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว และมีเงื่อนไขกำหนดให้ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าภายใน 2 ปี หากผู้ประกอบการที่ยังไม่ครบกำหนดเวลาให้ดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว จะเลือกใช้ระบบมาตรฐาน ISO 14000  ก็สามารถยื่นขอแก้ไขตามหลักเกณฑ์นี้ได้ทันที   

.

ทั้งนี้การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  โดยสามารถเลือกขอใบรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้น จากหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดเพียงให้ผู้ประกอบการที่ลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องได้รับมาตรฐาน ISO 9000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าภายใน 2 ปีนับแต่เปิดดำเนินการ หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี 

.

ISO 14000  เป็นระบบที่มุ่งตรวจระบบการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีปฎิบัติการป้องกัน และตรวจกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องว่าปฎิบัติตามได้สอดคล้องหรือไม่ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน การกำจัดของเสียได้ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

.

ในขณะเดียวกันก็จะสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในและต่างประเทศ เช่น ผู้ผลิตสินค้า ประเภทอิเล็กทรอนิกส์  ที่ส่งไปขายตลาดสหภาพยุโรปจะไม่โดนกีดกันตามมาตรการ NTBs (Non tariff Barriers) ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก  และต่อไปภายใต้กรอบ FTA และWTO จะครอบคลุมสินค้ามากขึ้น เช่น การจดทะเบียนสารเคมี เป็นต้น

.

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน  ISO 9000 ทั่วประเทศ จำนวน 7,177 ราย และบริษัทที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 14000 ทั่วประเทศ จำนวน 1,412 ราย