เนื้อหาวันที่ : 2017-09-14 09:31:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1463 views

ฮิตาชิ และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) บรรลุข้อตกลงความร่วมมือในการบรรจุเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ ลงในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย (EEC)

บริษัท ฮิตาชิ จำกัด (ชื่อย่อในลาดหลักทรัพย์ TSE:6501) บรรลุข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ IoT (Internet of Things) ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งวางโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวล้ำเพื่อสนับสนุนการพัฒนา EEC ในประเทศไทย

ปัจจุบันประเทศไทยได้สนับสนุนมาตรการต่าง ๆ เพื่อผลักดันโครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ และเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตไปอีกขั้น โดยในปี 2559 รัฐบาลได้นำเสนอแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” (Thailand 4.0) ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต โดยแผนพัฒนา EEC ก็ถือเป็นหนึ่งในมาตรการหลักเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าภายใต้แผนพัฒนา EEC นี้ จะก่อให้เกิดการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันราว 1.5 ล้านล้านบาท (ราว 5 ล้านล้านเยน) ซึ่งนอกเหนือจากการลงทุนเพื่อขยายสนามบินและก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว ประเทศไทยยังมีแผนที่จะดึงดูดนักลงทุนและสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภท ที่รวมถึงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เทคโนโลยีดิจิทัล และยานยนต์สมัยใหม่

ในขณะเดียวกัน ฮิตาชิก็มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรมในยุค IoT กับทุกภาคส่วน โดยฮิตาชิมีแผนการดำเนินงานระยะกลางภายในปี 2561 (2018 Mid-term Management Plan) ที่จะส่งเสริมการเติบโตในตลาดทั่วโลกผ่านธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Business) โดยจะร่วมมือกับลูกค้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยีปฏิบัติการ (Operational Technology) และระบบไอที รวมทั้งผลิตภัณฑ์เข้าด้วยกัน โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จึงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกลยุทธ์การเติบโตของฮิตาชิดังกล่าว สำหรับประเทศในอาเซียนที่ฮิตาชิมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดก็คือประเทศไทย ซึ่งฮิตาชิดำเนินธุรกิจในหลายประเภท อาทิ อุตสาหกรรมรถไฟ ผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรม และธุรกิจระบบข้อมูลและโทรคมนาคม เป็นต้น

จากพื้นฐานดังกล่าว ฮิตาชิและสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) จึงเห็นชอบที่จะร่วมมือกันในการวางพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวล้ำใน EEC ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี IoT ด้วยเช่นกัน โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ สกรศ. จะทำงานร่วมกับฮิตาชิในการก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยี IoT ที่ทันสมัย รวมทั้งดำเนินงานพัฒนาร่วมกันในหลายด้าน เช่น การศึกษาวิจัยประเด็นที่มีความสำคัญ และการแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยียุคใหม่

ทั้งนี้ สกรศ. จะสนับสนุนฮิตาชิในด้านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งด้านอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแล เพื่อให้สามารถดำเนินงานวางพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลและนำเสนอบริการต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ตามเป้าหมาย ส่วนฮิตาชิจะทำงานร่วมกับ สกรศ. ในการส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยี IoT ให้เกิดประโยชน์ เช่น การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บรวบรวมจากโรงงาน อาคารสำนักงาน และแหล่งอื่นๆ อีกทั้งยังจะนำโซลูชั่นหลักและประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับลูกค้าที่หลากหลายจากแพลทฟอร์ม IoT ของฮิตาชิคือ Lumada มาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมถึงนำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลต่างๆ เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม

ภายใต้ความร่วมมือกับคณะกรรมการ EEC ในครั้งนี้ ฮิตาชิจะสานต่อความมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการใช้งานเทคโนโลยี IoT ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุด