เนื้อหาวันที่ : 2017-09-13 11:45:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1554 views

การยางแห่งประเทศไทยและ ม.หอการค้าไทย ร่วมวางแผนโครงการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)

การยางแห่งประเทศไทยร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ตามกระบวนการที่กำหนดไว้เพื่อนำเสนอร่างยุทธศาสตร์ต่อการยางแห่งประเทศไทย เนื่องจากยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ยางพาราเป็นพืชที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง โดยยางพาราสามารถสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรชาวสวนยางไม่น้อยกว่า 1 ล้านครัวเรือน ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม 200,000 คน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตยางธรรมชาติได้มากที่สุดในโลก โดยในปี 2559 สามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตัน โดยมีเนื้อที่กรีดยางได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ที่มีพื้นที่ 12.77 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 19.61 ล้านไร่ ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 53.56 ซึ่งพื้นที่ในภาคใต้จะมีเนื้อที่กรีดยางได้มากคิดเป็นร้อยละ 68 เมื่อเทียบกับเนื้อที่กรีดยางได้ทั้งประเทศ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นร้อยละ 17 ภาคกลางและภาคตะวันออก คิดเป็นร้อยละ 12 ส่วนภาคเหนือมีพื้นที่กรีดยางน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 3 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาผลผลิตต่อไร่แล้วจะพบว่าการปลูกยางพาราของไทยให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ และมีแนวโน้มลดลงจาก 251 กิโลกรัม/เนื้อที่กรีดยาง 1 ไร่ ในปี 2557 ลดลงเหลือ 237 และ 227 กิโลกรัม/เนื้อที่กรีดยาง 1 ไร่ ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ นอกจากนี้ในส่วนของราคายางต้นน้ำ ทั้งน้ำยางดิบ ยางแผ่นดิบยังค่อนข้างมีปัญหา คือราคาไม่มีเสถียรภาพ เช่น ในปี 2554 ราคายางดิบสูงมาก แต่หลังจากนั้นราคาเริ่มปรับตัวลดลง ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับผลกระทบอย่างมาก

เนื่องจากประเทศไทยนั้นสามารถผลิตยางพาราได้เป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมกลางน้ำโดยเฉพาะการผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้นได้อย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เพียงพอ โดยในปี 2558 ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำยางข้นได้เป็นปริมาณมากถึง 964,403 ตันยางแท่ง 1,887,984 ตันยางแผ่นรมควัน 884,081 ตัน ซึ่งอุตสาหกรรมกลางน้ำเหล่านี้ก็เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้กับอุตสาหกรรมปลายน้ำภายในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมยางล้อ ถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นวัตถุดิบในระดับต้นน้ำและกลางน้ำจึงถือว่าเป็นปัจจัยที่สนับสนุนที่ดีมากทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพสำหรับการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมยางพาราของไทย

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางอันดับหนึ่งของโลก แต่มีปัญหาราคายางตกต่ำตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแก่ครัวเรือนชาวสวนยาง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางหลายมาตรการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงาน โดยมีการควบรวมหน่วยงานเดิมมาเป็นการยางแห่งประเทศไทย นโยบาย “ไร่ละพันห้า” นโยบายรับซื้อผลผลิตหนึ่งแสนตันภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัญหายางพาราของไทยไม่ได้มีเฉพาะปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการสวนยาง ความหลงผิด และกับดักทางสถาบันที่นำไปสู่นโยบายที่ผิดพลาด การจัดการผลผลิต การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง

ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ยางพารา ซึ่งในอดีตประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพารามาแล้ว 3 ฉบับ คือยุทธศาสตร์พัฒนายางพาราครบวงจร (พ.ศ. 2542-2546) แผนการปรับโครงสร้างยางและผลิตภัณฑ์ยาง พ.ศ. 2549-2551 และยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ. 2552-2556 สำหรับยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 4 ของไทย ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนายางทั้งระบบ ระยะกลางและระยะยาวที่ครอบคลุมยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดจนห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งมีแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวที่สามารถนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาได้ การยางแห่งประเทศไทยจึงมอบหมายให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นคณะผู้วิจัยดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยแบ่งเป็นช่วง ๆ ละ 5 ปี มีกรอบทิศทางการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา เป้าหมาย ตัวชี้วัดความสำเร็จ โครงสร้างการบริหารจัดการ การติดตามประเมินผลที่ชัดเจน และมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
  • เพื่อให้ได้แผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) และแผนยุทธศาสตร์ยางพาราช่วงละ 5 ปีที่ผ่านการพิจารณาให้ข้อเสนอแนะและปรับปรุงตามความเห็นของคณะทำงานยกร่างยุทธศาสตร์ยางพารา และคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา
  • เพื่อประชุมรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง
  • เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยางพาราของประเทศไทยมีกรอบทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

ในการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มีการกำหนดวิสัยทัศน์คือประเทศไทยเป็นผู้นำในตลาดซื้อขายยางธรรมชาติ เป็นผู้ส่งออกยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางอันดับ 1 ของโลกโดยปัจจัยแห่งความสำเร็จ (CSF) ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปเป็นผู้นำได้นั้นประกอบด้วย
1. นโยบายของรัฐต้องชัดเจน มียุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปปฏิบัติ (Implement) ได้ และจะต้องมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง

2. จะต้องมีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

3. หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี คือการยางแห่งประเทศไทย ต้องเป็น Intelligent Unit ที่มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติ

4. มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราอย่างเป็นระบบ

5. มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง

6. มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาง มีการผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการและสถานประกอบการให้ได้มาตรฐาน

7. สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างทั่วถึง

8. ต้องมีห้องปฏิบัติการหรือศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

9. มีการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปลายน้ำ โดยมีศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ มีสถาบันฝึกอบรมด้านการผลิต การตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ การพัฒนาและสร้างแบรนด์สินค้า การบริหารความเสี่ยงอย่างมืออาชีพในระดับสากล

10. มีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในระยะสั้น ได้แก่
1. ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงของราคาโดยใช้ประโยชน์จากตลาดซื้อขายล่วงหน้า
3. สนับสนุนและส่งเสริมสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง
4. ส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้น
5. ปรับปรุงแก้ไขให้กลไกตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้มีการแข่งขัน ไม่ให้เกิดปัญหาการผูกขาดในระบบการตลาดยาง