เนื้อหาวันที่ : 2017-09-12 17:35:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1556 views

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือกรมวิทยาศาสตร์บริการอัปเกรดโอท้อปไทยด้วยเทคโนโลยีรับอุตสาหกรรม 4.0 คาดปี 61 นำร่องโอท้อป 5 กลุ่ม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แก้ปัญหาผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การเสียเปรียบในเชิงการค้า ตลอดจนการยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งวิสาหกิจชุมชน เริ่มดำเนินการเดือนตุลาคมปีนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจากการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน 200-300 ราย วางเป้าหมายภายใน 5 ปีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย นำร่องพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อาหารแปรรูป เซรามิก แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ ทั้งนี้ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิยาศาสตร์บริการ เมื่อเร็ว ๆ นี้

ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้มีนโยบายในการผลักดันและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและการทดสอบในห้องปฏิบัติการไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าโอท้อปเพื่อยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนในด้านผลิตภัณฑ์โอท้อปทั้ง 5 ประเภทคือ อาหารแปรรูป เซรามิก แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและออกแบบกระบวนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล สามารถใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยได้ดำเนินการในทุกภูมิภาค ในปี 2560 มีผู้ประกอบการที่ได้รับการผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการยื่นขอรับรองมาตรฐานจำนวน 454 ราย ผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจำนวน 3,858 ราย

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. ที่ยังขาดความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลในการบริหารจัดการธุรกิจ หรือต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง ส่งต่อให้กับ วศ. ในการพัฒนาด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงเพื่อผลักดันไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยที่ผ่านมา กสอ. มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยดิจิทัลในด้านต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกิจการ การใช้โปรแกรม CAD/CAM/CAE เสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิต ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้ได้รับการสร้างช่องทางการตลาดบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้สามารถตอบสนองต่อโลกได้ทันท่วงที ซึ่งผู้ประกอบการในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัจจุบัน กสอ. พัฒนา SMEs และโอท้อปรวมกว่า 7,000 ราย ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน ปี 61 ผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 50% จะต้องสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดธุรกิจผ่านโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. อาทิ โครงการยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าโอท้อปด้วยเทคโนโลยี โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โครงการพัฒนา SMEs ด้วยระบบดิจิทัล และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสู่ยุคดิจิทัล เป็นต้น

“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและกรมวิทยาศาสตร์บริการมีศักยภาพและความพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนให้ใช้ระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ กรมวิทยาศาสตร์บริการทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนในทุกภาค ดำเนินการวิจัยพัฒนาการเพิ่มมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนให้สามารถเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันคือทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า ขยายโอกาสเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่สอดคล้องกับแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้เริ่มดำเนินการเดือนตุลาคมปีนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจากการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน 200-300 ราย วางเป้าหมายภายใน 5 ปีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย นำร่องพัฒนาพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เซรามิก แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ” ดร.พสุ กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียดสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02-367-8338 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.dip.go.th