เนื้อหาวันที่ : 2017-07-26 17:27:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1378 views

กระทรวงพลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เผยรายละเอียด 7 โครงการที่เข้ารอบการคัดเลือกในโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากที่ กระทรวงพลังงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับมูลนิธิอาคารเขียวไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัย องค์กรเอกชน ร่วมโครงการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน  ได้คัดเลือก 7 โครงการที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ แล้ว คือ โครงการ  นิด้า : มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ  รู้รักษ์พลังงาน  สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน,  มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาดเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต: ต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะวิสซ์ดอม วัน-โอ-วันขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑): ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง, และโครงการเมืองใหม่อัจฉริยะบ้านฉาง และได้รับการสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อจัดทำโมเดลธุรกิจสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครอบคลุมการจัดทำแบบ ประเมินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ วิเคราะห์ความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและการลงทุน

ทั้งนี้ ทั้ง 7 โครงการ พร้อมแล้วที่จะนำเสนอรายละเอียดของแต่ละโครงการในรูปแบบการแสดงนิทรรศการในงาน Smart Cities-Clean Energy@ 6th TGBI Expo 2017 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคมนี้ โดยรายละเอียดที่ 7 โครงการที่จะนำมาแสดงจะครอบคลุมเกี่ยวกับ  ผังการใช้พื้นที่ แผนผังโครงการ การจัดวางอาคาร และแผนผังต่างๆ ได้แก่ อาคารภูมิสถาปัตย์ ระบบสาธารณูปโภค ระบบผลิต ส่ง และจ่ายพลังงาน ระบบเครื่องกล และไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบจัดการน้ำเสีย ระบบนำน้ำกลับมาใช้ ระบบ ระบายน้ำ ระบบกักเก็บน้ำฝน ระบบอัจฉริยะ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดทำรายงานเปรียบเทียบเพื่อแสดง การคำนวณตัวเลขของการประหยัดพลังงาน การประหยัดน้ำการลดปริมาณคาร์บอน การประหยัดค่าก่อสร้าง เป็นต้น  

โดยจะประเมินค่าก่อสร้างเบื้องต้น, วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายตลอดอายุโครงการ, รายงานการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้เป็นโมเดลธุรกิจ และนำไปสู่การจัดหาผู้ร่วมทุนและการพัฒนา“เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ให้เป็นรูปธรรมต่อไปได้

“การพัฒนาเมืองของชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะ โดยเชื่อมโยงกับการใช้พลังงานในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การเป็น Clean Energy และ Green City ให้สามารถเป็นต้นแบบลดการใช้พลังงาน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามเจตนารมณ์ของรัฐ และยังเป็นการสร้างมิติใหม่ของการพัฒนาเมือง” ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร กล่าว