เนื้อหาวันที่ : 2017-07-13 13:56:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1390 views

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เลือกเทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์คลาวด์ของนูทานิคซ์

เสริมศักยภาพระบบไอที เป้าหมายเริ่มต้นเป็น Infrastructure-as-a-Service เพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการศึกษาในยุคประเทศไทย 4.0

นูทานิคซ์ (NASDAQ: NTNX) ผู้นำด้านเอ็นเตอร์ไพรซ์คลาวด์คอมพิวติ้งได้รับความไว้วางใจจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เลือกใช้เอ็นเตอร์ไพรซ์คลาวด์โซลูชั่นของนูทานิคซ์ เสริมศักยภาพการเรียนการสอนและการทำวิจัยของคณะฯ ให้สามารถให้บริการบุคลากรได้อย่างคล่องตัว มีความยืดหยุ่น ลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ ลดพื้นที่การจัดเก็บ สามารถสร้างเวอร์ชวลแมชชีนได้อย่างไร้ขีดจำกัด การติดตั้งแพลทฟอร์มของนูทานิคซ์ของคณะฯ ใช้เวลาเพียงหนึ่งวัน ประหยัดเนื้อที่ในการจัดวางอุปกรณ์ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ และยังประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อได้ประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์

เทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนโลกให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่ส่วนเล็กที่สุดในระดับบุคคลจนถึงระดับประเทศ และระดับโลก ทุกภาคส่วนต่างเร่งนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศและองค์กรของตน ภาคการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการเองก็ได้กำหนดให้ “ICT เพื่อการศึกษา” เป็นหนึ่งในหกยุทธ์ศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมะฑัต วิภาตะวนิช รองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารองค์กร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ให้ข้อมูลว่า “คณะฯ มีวิสัยทัศน์ว่า ‘การให้บริการ’ กับนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในปัจจุบัน เมื่อประมาณเจ็ดปีที่แล้ว เรามีความท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้แต่ละภาควิชาหรือแต่ละหน่วยงานให้ความไว้วางใจระบบไอทีและระบบเครือข่ายของคณะฯ เราควรจะเริ่มต้นจากจุดใดก่อน และจะรวบรวมเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร”

ด้วยจำนวนอาคารทั้งหมด 17 อาคาร มีเซิร์ฟเวอร์ที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่แบบ Tower Case ไปจนถึง Rackmount มีจำนวนนักศึกษา คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน ที่ต้องให้บริการประมาณ 6,000 คน ซึ่งต้องการระบบงานหลายอย่าง เช่น ระบบสารบรรณ ระบบทรัพยากรบุคคล ระบบจองห้องเรียนเป็นต้น และคณะฯ ต้องจัดหาซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งยังต้องสรรหาระบบที่มีความปลอดภัยทางไซเบอร์

คณะฯ เริ่มสำรวจและทำแผนที่ระบบทั้งหมด โดยเน้นไปที่ระบบเครือข่ายเป็นอันดับแรก และเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ติดตั้งนูทานิคซ์จำนวน 4 โหนดเพื่อรวมระบบและเซิร์ฟเวอร์ไว้บนเวอร์ชวลไลเซชั่น เท่าที่จำเป็นต้องใช้งาน จากนั้นได้ติดตั้งนูทานิคซ์เพิ่มอีก 3 โหนดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 เพื่อทำโครงการไพรเวทคลาวด์สำหรับคณาจารย์ในแต่ละภาควิชาในคณะฯ

ผศ.ดร.เขมะฑัต กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยีเอ็นเตอร์ไพรซ์คลาวด์แพลตฟอร์มของนูทานิคซ์เป็นแบบสเกล-เอ้าท์ ดังนั้นเราจึงซื้อเท่าที่จะใช้ได้ และเป็นเทคโนโลยีที่มาพร้อมความปลอดภัยของข้อมูล หลังติดตั้งนูทานิคซ์ เราประสบความสำเร็จในการรวมระบบและได้รับความไว้วางใจจากส่วนกลางและภาควิชาต่างๆ ในคณะฯ ให้ดูแลระบบเครือข่าย เราได้รับประสิทธิภาพตามต้องการโดยสามารถสร้างเวอร์ชวลแมชชีนได้อย่างรวดเร็ว สามารถใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้ทันทีตามต้องการ เข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ เป็นโมบิลิตี้ ลดปัญหาที่เกิดจากไฟฟ้าดับที่เราต้องเผชิญมาเป็นเวลานาน ทำให้ระบบมีความเสถียร เราเลือกนูทานิคซ์ เพราะนอกจากประสิทธิภาพระดับแนวหน้าของโลก ยังมีบริการที่ดีทั้งก่อนและหลังการขาย”

นายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการ นูทานิคซ์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันความสำเร็จของทุกวงการ การทำงานได้รวดเร็ว เรียบง่าย ทุกที่ทุกเวลา และใช้เทคโนโลยีที่รองรับการขยายตัวในอนาคตล้วนจำเป็นและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า นูทานิคซ์ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ทรานส์ฟอร์มระบบเพื่อการศึกษาด้วยโซลูชั่นของนูทานิคซ์ ที่จัดการโครงสร้างพื้นฐานไอทีได้อย่างเบ็ดเสร็จ เราจะยังคงร่วมมือกับคณะฯ เพื่อนำประโยชน์สูงสุดมาสู่การให้บริการด้านไอทีของคณะฯ ต่อไป”

ผศ.ดร.เขมะฑัต กล่าวสรุปว่า “การนำไอทีมาใช้ในภาคการศึกษานับวันจะขยายวงมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และมีแนวโน้มจะใช้ระบบคลาวด์มากขึ้น สมาร์ทซิสเต็มและการทำงานบนคลาวด์จึงสำคัญที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับการศึกษาในยุค 4.0 ให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แบบโมบิลิตี้ มีความคล่องตัว ผมได้เห็นทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในวงการศึกษาผ่านโครงการต่างๆ หลายโครงการ นอกจากนี้ผมมองว่านักวิจัยของคณะฯ สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวและยืดหยุ่น ซึ่งสามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดทำประโยชน์ให้กับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของประเทศได้ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำว่าทำไมเทคโนโลยีกับวงการการศึกษาจะต้องเดินคู่กันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และคณะฯ ของเราก็พร้อมจะเดินหน้าพัฒนาไอทีอย่างต่อเนื่องต่อไป”