เนื้อหาวันที่ : 2007-09-26 11:20:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1477 views

การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรกลดฮวบ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธ.อาคารสงเคราะห์ เผยจำนวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก ปี 2550 ลดลงถึงร้อยละ 20

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยจำนวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก ปี 2550 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 พบว่า พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยรวมกันทั้งแนวราบและแนวสูงทั่วประเทศลดลงถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัดลดลงถึงร้อยละ 32

.

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของที่อยู่อาศัยแนวราบทั่วประเทศ แต่สำหรับที่อยู่อาศัยที่เป็นอาคารสูงนั้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกลับมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 76 หรือประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งประเทศ

.

ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ครึ่งปีแรกปีนี้ การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยแนวราบ ทั่วประเทศ มีจำนวน 108,980 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 16.2 ล้านตารางเมตร เปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2549 ทั่วประเทศมี 110,637 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 18.4 ล้านตารางเมตร จำนวนหน่วยลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1 แต่พื้นที่ลดลงร้อยละ 12 พื้นที่ต่อหน่วยในการขออนุญาตก่อสร้างลดลงจาก 166 ตารางเมตรเหลือ 149 ตารางเมตร

.

ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครึ่งปีแรกปีนี้ การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยแนวราบ มีจำนวน 32,931 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 6.0 ล้านตารางเมตร เปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2549 มี 33,461 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 7.2 ล้านตารางเมตร จำนวนหน่วยลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 2 แต่พื้นที่ลดลงร้อยละ 16 พื้นที่ต่อหน่วยในการขออนุญาตก่อสร้างลดลงจาก 215 ตารางเมตรเหลือ 182 ตารางเมตร ขนาดพื้นที่ก่อสร้างต่อหน่วยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใหญ่กว่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่มีขนาดพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ 149 ตารางเมตรต่อหน่วย

.

สำหรับที่อยู่อาศัยแนวสูง นั้น ครึ่งปีแรกปี 2550 การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยอาคารสูง ทั่วประเทศ มีจำนวน 2,639 อาคาร คิดเป็นพื้นที่ 5.3 ล้านตารางเมตร เปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2549 ทั่วประเทศมี 2,218 อาคาร คิดเป็นพื้นที่ 8.7 ล้านตารางเมตร จำนวนอาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 แต่พื้นที่กลับลดลงมากถึงร้อยละ 39 ขนาดอาคารทั่วประเทศลดลงจากเฉลี่ยประมาณ 3,900 ตารางเมตรต่ออาคาร เหลือเฉลี่ยประมาณ 2,000 ตารางเมตรต่ออาคาร

.

ใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยอาคารสูงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครึ่งแรก ปี 2550 มี1,692 อาคาร พื้นที่รวม 4.0 ล้านตารางเมตร เทียบกับครึ่งแรก ปี 2549 มี 1,638 อาคาร พื้นที่รวม 7.6 ล้านตารางเมตร จำนวนอาคารเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 และพื้นที่ลดลงมากถึงร้อยละ 47 ขนาดอาคารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลงจากเฉลี่ยประมาณ 4,650 ตารางเมตรต่ออาคาร เหลือเฉลี่ยประมาณ 2,400 ตารางเมตรต่ออาคาร

.

นายสัมมา ให้ความเห็นว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบมีทั้งที่สร้างโดยผู้ประกอบการและเจ้าของสร้างเอง แต่ที่อยู่อาศัยที่เป็นอาคารสูงนั้นเป็นการสร้างโดยผู้ประกอบการเกือบทั้งหมด มีทั้งที่อยู่อาศัยที่สร้างเพื่อการขายและเพื่อการเช่า คือมีทั้งคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ และหอพัก จากตัวเลขครึ่งปีแรกปีนี้ แม้จำนวนอาคารสูงจะยังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นแต่ขนาดของอาคารโดยส่วนใหญ่ลดลง

.

ทำให้พื้นที่ขอใบอนุญาตลดลงมากจากที่เคยขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2549 ทั้งปีมีพื้นที่ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านตารางเมตรทั่วประเทศ และในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากถึง 9.6 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้อาจมีเหตุผลเนื่องจากการเริ่มบังคับใช้ผังเมือง กทม. ใหม่เมื่อกลางปีที่แล้วทำให้มีการเร่งขอใบอนุญาตอาคารสูงกันมากในช่วงครึ่งปีแรกปี 2549

.

สำหรับจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยแนวราบ คิดเป็นจำนวนหน่วยมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ส่วนจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยอาคารสูง คิดเป็นจำนวนอาคารมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต