เนื้อหาวันที่ : 2007-09-25 15:23:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4518 views

กระแสหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจกับแนวคิดเรื่องGDP

ทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยเศรษฐกิจภายในระบบซึ่งในชีวิตประจำวันก็สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

Macro Economics Outlook ฉบับที่แล้วเราคุยกันถึงเรื่องกระแสหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ  ซึ่งคณะผู้เขียนได้พาท่านย้อนกลับไปในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งมีคุณหมอนักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งนามว่า Quesney ได้อธิบายถึงการหมุนเวียนของรายได้มวลรวมในระบบเศรษฐกิจว่ามันหมุนเวียนอย่างไร  ซึ่ง Quesney ได้สรุปว่าการหมุนเวียนรายได้ภายในระบบเศรษฐกิจก็เหมือนกับการหมุนเวียนโลหิตภายในร่างกายมนุษย์โดยแต่ละหน่วยเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่ทำหน้าที่ของตัวเอง แนวคิดของคุณหมอ Quesney จัดได้ว่าเป็นพวก Physiocrat ซึ่งเป็นสำนักคิดทางเศรษฐกิจที่เน้นความสำคัญของภาคเกษตร                         

.
สำหรับฉบับนี้เราจะคุยกันต่อในเรื่องกระแสหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันซึ่งหากใครเคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาบ้างคงจะคุ้นกับแผนภาพที่จะนำเสนอต่อไปนี้
.

..

อันที่จริงแล้วในทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยเศรษฐกิจภายในระบบซึ่งในชีวิตประจำวันของเรา เราก็สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่น ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ยกเว้นรายได้จากการขายหุ้นนะครับอันนี้ไม่ต้องเสียขอย้ำนะครับ) ซึ่งก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาคครัวเรือนกับภาครัฐบาล หรือกรณีที่เราเติมน้ำมันตามปั๊มก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างภาคครัวเรือนกับภาคต่างประเทศ เพราะเราต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

..

แผนภาพข้างต้นจึงแสดงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของหน่วยต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจซึ่งเริ่มต้นที่  นักเศรษฐศาสตร์แบ่งภาคเศรษฐกิจออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจเหตุที่แบ่งเป็นสองภาคนี้เพราะพวกเขาเชื่อว่าเศรษฐกิจหรือเรื่องปากท้องการทำมาหากินนั้นก็เริ่มมาจากมีผู้ซื้อผู้ขาย มีการบริโภค มีการผลิต ทั้งสองภาคนี้สัมพันธ์กันอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าภาคครัวเรือนอันประกอบด้วยแรงงานเมื่อทำงานย่อมเกิดผลผลิตหรือสร้างรายได้แต่จะได้รายได้อย่างไรหากไม่มีการจ้างงานจากภาคธุรกิจดังนั้นภาคธุรกิจก็จะพบกับภาคครัวเรือนผ่าน ตลาดแรงงาน (Labor Market) ดูลูกศรหมายเลข 1 เมื่อเกิดการจ้างงานย่อมเกิดการผลิตสินค้าและบริการขึ้นเมื่อเป็นเช่นนี้ภาคธุรกิจก็จะขายสินค้าและบริการกลับคืนสู่ภาคครัวเรือน

.

ดังนั้นภาคธุรกิจจึงมาพบภาครัวเรือนอีกครั้งใน ตลาดสินค้า (Product Market)  ดูลูกศรหมายเลข 2 ความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เองถือเป็นพื้นฐานการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้เนื่องจากในเชิง Micro หรือจุลภาคนั้นบทเรียนแรกที่นักศึกษาต้องเรียนคือทฤษฎีผู้บริโภคนั่นหมายถึงฝั่งดีมานด์ต่อจากนั้นก็จะมาศึกษาทฤษฎีการผลิตหรือฝั่งซัพพลาย ความสัมพันธ์ของทั้งสองภาคเศรษฐกิจทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนได้รายได้จากการจ้างงานของภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจได้รายได้จากการขายสินค้าและบริการให้ภาคครัวเรือน

..

ประการถัดมานักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าระบบเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหากแต่มีภาครัฐบาล เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า ภาครัฐในระบบเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นผู้สร้างความจำเริญรักษาเสถียรภาพ ตลอดจนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งภาครัฐจะสัมพันธ์กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจก็ตรงการจัดเก็บภาษีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีการค้า ดูลูกศรหมายเลข 3 อย่างไรก็ตามรัฐไม่ได้เรียกเก็บภาษีแก่ทั้งสองภาคเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

 

หากแต่ยังให้เงินอุดหนุน  ในรูปเงินช่วยเหลือสวัสดิการแก่ภาคครัวเรือนหรือเงินประกันราคาสินค้าต่าง ๆ เช่น เงินประกันราคาข้าวให้กับกลุ่มเกษตรกร จะเห็นได้ว่าภาครัฐในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมนับว่ามีส่วนสำคัญและมักจะมีวิวาทะอยู่เสมอ ๆ เกี่ยวกับบทบาทในการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจของภาครัฐว่าควรจะแทรกแซงดีหรือไม่แทรกแซงดี ซึ่งการศึกษาบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจนี้เองที่นำไปสู่การศึกษาวิชา Macro Economics หรือเศรษฐศาสตร์มหภาค

..

อย่างไรก็ตามในโลกของระบบเศรษฐกิจก็ไม่ได้มีแค่ประเทศเราเพียงประเทศเดียวนักเศรษฐศาสตร์จึงเพิ่มภาคต่างประเทศ เข้ามาอีกภาคหนึ่งและรวมเรียกทั้งวงจรนี้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดได้นำความสัมพันธ์ระหว่างภาคเศรษฐกิจทั้งสามผูกรวมกับภาคต่างประเทศในรูปของการนำเข้าและส่งออกสินค้าดูลูกศรหมายเลข    

..

สำหรับสถาบันการเงินที่ปรากฏอยู่ในแผนภาพผู้เขียนนำมาใส่เพื่อแสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสถาบันการเงินหรือ Financial Institution จึงทำหน้าที่เป็นผู้ระดมเงินออมที่มาจากทุกภาคเศรษฐกิจพร้อมกันนั้นก็จัดสรรเงินออมดังกล่าวไปให้ผู้ที่ต้องการใช้เงินนั้นในกิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ       

..

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกระแสหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่อย่างที่เคยคุยกัน เมื่อฉบับที่แล้วว่าวงจรเศรษฐกิจมีความคล้ายคลึงกับวงจรโลหิตภายในร่างกายมนุษย์  ดังนั้นหากวันใดวันหนึ่งภาคเศรษฐกิจใดหรือหน่วยเศรษฐกิจใดมีปัญหาหยุดทำงานระบบเศรษฐกิจนั้น ย่อมไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ   วิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เศรษฐศาสตร์ที่เราเรียนกันในมหาวิทยาลัยเป็นเศรษฐศาสตร์ของทุนนิยม หรือพวกที่นิยมสะสมทุนเป็นหลักในทางกลับกันโลกสังคมนิยม ก็ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์แบบสังคมนิยม ซึ่งท้ายที่สุดทั้งสองแนวทางล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด     

..

สำหรับเรื่องที่จะคุยต่อไปเป็นเรื่องของ GDP หรือ Gross Domestic Product ศัพท์คำนี้เป็นคำที่เรา ๆ ชาวบ้านร้านตลาดคุ้นหูนักโดยเฉพาะช่วงที่ท่านนายกบริหารประเทศมักกล่าวถึงคำนี้เป็นประจำ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ขัดศรัทธานายกเราจะมาทำความรู้จักเรื่องราวของ GDP กัน  แต่ก่อนที่เราจะไปรู้จัก GDP เราควรทราบก่อนว่าในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เราได้สร้างตัวชี้วัด (Indicators)ขึ้นมามากมายหลายตัวโดยตัวชี้วัดที่ง่ายที่สุดคือตัวชี้วัดด้านรายได้ เหตุที่เอารายได้มาเป็นตัวชี้วัดก็เพราะเวลาเราวัดกันว่าใครรวยใครจนเราจะดูจากรายได้เป็นสำคัญเช่นเดียวกันเวลาเราคิดกันว่าระบบเศรษฐกิจใดดีหรือไม่ดีเราก็ดูจากรายได้ของคนในระบบเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไร

..

ซึ่งรายได้ที่เราจะดูนั้น นักเศรษฐศาสตร์เขาเรียกมันว่า รายได้ประชาชาติ หรือNational Income     รายได้ประชาชาติ หมายถึง ผลตอบแทนที่เกิดจากการขายปัจจัยการผลิตภายในระยะเวลาหนึ่งซึ่งโดยปกติเราคิด 1 ปี เหตุผลที่เราต้องจัดทำรายได้ประชาชาติก็เนื่องมาจากในยุคสมัยที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในอเมริกา (Great Depression 1929 -1933) ผลของเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ค่าครองครองชีพ ชาวอเมริกันลดลงเกือบ 25% คนกว่า 13 ล้านคนต้องว่างงาน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้รัฐบาลอเมริกาต้องการข้อมูลที่จะให้ได้มาเกี่ยวกับผลผลิตเพื่อทำให้ทราบว่ามีอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อเป็นเท่าใดซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อไป  

 

กระทรวงพาณิชย์จึงได้จัดทำบัญชีรายได้ประชาชาติขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1932 มี National Bureau of Economic Research (NBER หรือศูนย์วิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ)และ ศาสตราจารย์ Simon Kuznets ได้ร่วมกันพัฒนาและจัดทำบัญชีรายได้ประชาติอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทำให้ Kuznets ได้รับรางวัล Noble สาขาเศรษฐศาสตร์ในเวลาต่อมา สำหรับการจัดทำบัญชีรายได้ประชาชาติในประเทศไทยเริ่มขึ้นเมื่อปี 2510 โดยหน่วยงานที่จัดทำ คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทั้งนี้การจัดทำรายได้ประชาชาติของไทยได้จัดทำในด้านการผลิต รายได้ และรายจ่าย   

..

กลับมาที่ GDP กันต่อ GDP (Gross Domestic Product) เป็นตัวชี้วัดที่แตกแขนงจากแนวคิดการจัดทำบัญชีรายได้ประชาชาติโดย GDP หมายถึงมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่งโดยปกติคิด 1 ปี จะเห็นได้ว่า GDP เป็นเรื่องของการผลิตสินค้าและบริการไม่ใช่เรื่องของรายได้หรือผลตอบแทนแต่อย่างใด คำนิยามของ GDP ทำให้เราได้รู้จักคำว่า สินค้าและบริการขั้นสุดท้าย อย่างที่เคยกล่าวไปเมื่อฉบับก่อน ๆ ว่าสินค้าและบริการทางเศรษฐศาสตร์สามารถแยกออกเป็นวัตถุดิบสินค้าและบริการขั้นกลาง ส่วนสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย (Final Goods หรือ Final Product) หมายถึง สินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อไปเพื่อบริโภคหรือธุรกิจซื้อไปเป็นเครื่องมือในการผลิต   

..

กล่าวโดยสรุป GDP เป็นการวัดมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาในประเทศไม่ว่าจะผลิตด้วยทรัพยากรของประเทศใดก็ตามเราก็ถือว่าเป็นผลผลิตของประเทศนั้น เช่น GDPของประเทศไทย จะนับรวมผลผลิตที่บริษัทญี่ปุ่นนำทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นทุน แรงงาน เข้ามาผลิตผลผลิตภายในประเทศไทยเช่นกันหากคนไทยเอาทรัพยากรไปผลิตสินค้าหรือบริการที่ต่างประเทศ ผลผลิตที่ได้ก็จะถูกนับรวมเป็น GDP ของประเทศนั้น สำหรับคราวหน้าเราจะมารู้จักตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สำคัญกันต่อ   

..
เอกสารอ้างอิงและประกอบการเขียน
ชูศักดิ์ จรูญสวัสดิ์. เศรษฐศาสตร์เพื่อชีวิต, 2545