เนื้อหาวันที่ : 2017-05-09 14:19:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1788 views

สวทช. ส่งมอบเครื่องบิน Cozy Mark IV (โคซี่ มาร์ค โฟร์) แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เสริมทักษะฝึกปฏิบัติซ่อมบำรุงอากาศยาน ตอบสนองนโยบายอุตสาหกรรมการบินเป้าหมายใหม่

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ส่งมอบเครื่องบิน Cozy Mark IV (โคซี่ มาร์ค โฟร์) ชนิด Composite (คอมโพสิท) 4 ที่นั่ง ให้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดย ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ นับเป็นเครื่องบินลำแรกของประเทศไทยที่ประกอบโดยเยาวชนไทย และสามารถใช้งานจริงได้ ภายใต้โครงการวิศวกรรมการออกแบบและสร้างเครื่องบิน Cozy Mark IV Thailand ของ สวทช. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมากกว่า 7 ปี โดยมี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ผศ.ปราโมทย์ อนันต์วราพงษ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ และ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบิน ที่กำกับดูแลและควบคุมโครงการฯ ร่วมในพิธีส่งมอบ

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. สนับสนุนการสร้างความรู้และความตระหนักในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อต่อยอดให้เกิดผลงานการออกแบบและวิศวกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวไทยของไทย ซึ่งวิศวกรรมศาสตร์ เป็นศาสตร์หนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามเด็กไทยโดยเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้รับการพัฒนาในสาขานี้ไม่มากนัก ประกอบกับยังขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในโรงเรียนที่ให้ความรู้และคำแนะนำ ส่งเสริมให้มีความรู้ ทักษะพื้นฐาน ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์จนเกิดนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม จากความสำคัญดังกล่าว สวทช. ได้จัดทำ โครงการวิศวกรรมออกแบบและสร้างเครื่องบิน Cozy Mark IV Thailand กิจกรรมหนึ่งในพันธกิจพัฒนากำลังคน เพื่อพัฒนาทักษะทางวิศวกรรมให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยการแนะนำและควบคุมของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการบิน ได้แก่ ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี ด้วย สวทช. ตระหนักดีว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะสร้างเครื่องบินได้ หากได้รับการดูแลให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และมีการควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิดโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการต่อเนื่องมากว่า 7 ปี มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการเพื่อฝึกทักษะวิศวกรรมที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จำนวนถึง 3,105 คน โดยนักเรียนทุกคนได้มีส่วนร่วมในการสร้างอากาศยานที่สามารถโดยสารได้จริงตั้งแต่การสร้างส่วนโครงลำตัวเครื่อง การติดตั้งระบบเครื่องยนต์ และการวางระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์”

“เครื่องบิน Cozy Mark IV ชนิด Composite เป็นเครื่องบิน 4 ที่นั่ง เครื่องยนต์ 360 แรงม้า สามารถรับน้ำหนักได้มากที่สุด 2,050 ปอนด์ ประกอบด้วยวัสดุ composite (คือ วัสดุที่ประกอบด้วยการรวมวัสดุมากกว่า 2 ประเภทเข้าด้วยกัน) โดยโครงการดำเนินการจนถึงขั้นเตรียมพร้อมนำไปทดสอบใช้งานจริง ได้แก่ ระบบน้ำมันเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้าเครื่องยนต์ ระบบน้ำมันเชื้อเพลิง และทดสอบเครื่องยนต์พร้อมใบพัด รวมทั้งได้ทำการ taxi (ขับจริงบนถนน) แล้ว ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นับเป็นเครื่องบินลำแรกของไทยที่ประกอบโดยเยาวชนไทยและใช้งานจริงได้ และเพื่อให้เครื่องบิน Cozy Mark IV มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้มีความสนใจนำเครื่องบินดังกล่าว ไปใช้ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ภาควิชาวิศวกรรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

จากซ้าย: ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยนักปฏิบัติแห่งหนึ่งของเมืองไทยที่มีความเข้มแข็งในความเป็นช่าง และเคยมีพื้นฐานเปิดการเรียนการสอนด้านอากาศยานมาแล้ว จึงได้เล็งเห็นช่องทางที่จะสร้างคน สร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินที่กำลังเคลื่อนเข้ามาสู่ภูมิภาคแห่งนี้ ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อพัฒนาและจัดการเรียนการสอนด้านอากาศยานที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และยกระดับการศึกษาด้านอากาศยานของประเทศ ให้ตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมของประเทศ และยังนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยด้วย และมีการดำเนินการหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน มาตรฐาน EASA Part 66 ( CAT B1.1 และ CAT B2) เปิดสอนในรูปแบบของการฝึกอบรม โดยใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร นอกจากนี้หลักสูตรดังกล่าว ยังเป็นหลักสูตรที่เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การมาตรฐานการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency: EASA) ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ (Certificate) สามารถนำไปประกอบอาชีพและต่อยอดเป็นใบอนุญาต (License) ตามมาตรฐาน EASA ได้”

“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มีความสนใจนำเครื่องบิน Cozy Mark IV ไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนในหลักสูตรฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยานตามมาตรฐาน EASA PART 66 CAT B1 เพื่อให้นักเรียนสามารถฝึกปฏิบัติตามเนื้อหาบทเรียนในหลักสูตร อาทิ ระบบการทำงานของอากาศยานขนาดเล็ก การฝึกปฏิบัติด้านเครื่องยนต์ชนิดลูกสูบ การฝึกปฏิบัติซ่อมโครงสร้างที่เป็นวัสดุผสม และการฝึกปฏิบัติทางระบบสื่อสารของอากาศยานขนาดเล็ก อีกทั้งยังส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะและเกิดความเคยชินในงานซ่อมอากาศยานขนาดเล็กซึ่งนับว่าเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าว

เครื่องบิน Cozy Mark IV (โคซี่ มาร์ค โฟร์) ชนิด Composite (คอมโพสิท) 4 ที่นั่ง

ภายในเครื่องบิน Cozy Mark IV (โคซี่ มาร์ค โฟร์)