เนื้อหาวันที่ : 2017-05-09 13:57:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1372 views

ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ติวเข้มธุรกิจซอฟต์แวร์ หนุนสู่ไทยแลนด์ 4.0

ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ รุ่น 15 (SUCCESS2017) คว้าดาวเด่นวงการเข้าสังกัดเพียบ เตรียมแต่งตัวสตาร์ทอัพทั้งแนวลึกและแนวกว้าง เชื่อมต่อกับแหล่งทุนทุกระดับ

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. เปิดเผยว่า โครงการ Success ในปีนี้ เป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์และนวัตกรรมที่มีผลงานออกสู่ตลาดแล้ว จำนวน 57 ราย เพื่อเข้าร่วมบ่มเพาะธุรกิจ สร้างมิติใหม่ของการบ่มเพาะกลุ่ม Start-up เบื้องต้น โดยเน้นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและวางรากฐานให้ธุรกิจยั่งยืน และเพิ่มมิติในด้านเงินทุน เพื่อทำให้โอกาสในการอยู่รอดมากขึ้นกว่าทุกปี โดยจะเป็นโครงการที่เกิดการร่วมทุนจากกองทุนทุกรูปแบบมากที่สุดในประเทศในปีนี้ หลังจากที่ก่อตั้งโครงการมาถึง 15 ปี

“ปีนี้โครงการ success ถือว่ามี Start-up ตัวจริง และมีศักยภาพในการระดมทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเข้ามามากที่สุด นอกจากความโดดเด่นในตัวเองในแนวลึก ยังสามารถรวมกลุ่มกันสร้างโซลูชั่นใหม่ขึ้นมา กลายเป็นการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในฐานที่กว้างมากขึ้นได้ ดังนั้น ในปีนี้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. จึงต้องทุ่มเททรัพยากรและพันธมิตรที่มากกว่าเดิมเข้ามาสนับสนุน แต่จะเน้นบทบาทการเป็นผู้เชื่อมต่อธุรกิจ (Business Connector) ที่ไม่แข่งกับภาคเอกชนอื่น และพร้อมต่อเชื่อมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเข้าสู่ Accelerator ที่เป็นบริษัทที่ค้นหาธุรกิจใหม่ๆ และเฉพาะเจาะจง หรือกลุ่มบ่มเพาะอื่นๆ ได้อย่างมีความพร้อมที่สุด”

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช.

นางศันสนีย์ กล่าวต่อว่า โครงการ Success ปีนี้ จะมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการได้รวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันทำกิจกรรมทางการตลาดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตามแนวทางการตลาดเชิงลึกเฉพาะกลุ่ม (Vertical Market) มากขึ้น คาดว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้จะสามารถสร้างยอดขายรวมได้มากกว่า 500 ล้านบาท มีส่วนในการจ้างงานกว่า 600 อัตรา มีการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 60 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังนำผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่มาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาผ่านประสบการณ์บริหารธุรกิจที่หลากหลาย พร้อมกับจะมีงบสนับสนุนกิจกรรมพิเศษ มากกว่า 600,000 บาท ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ รวมกลุ่มกัน คิดกิจกรรมที่ต้องการจะทำร่วมกันเป็นกลุ่ม

จุดสำคัญของโครงการ Success อีกประการคือ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจหรือ Community ของบริษัทซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดและหลากหลายที่สุดในเมืองไทย โดยสมาชิกของกลุ่มจะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่รวมตัวกันจัดตั้งโซลูชั่น ช่วยกันหาลูกค้าให้กัน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน แลกเปลี่ยนทรัพยากรภายในเครือข่ายเพื่อพัฒนาสินค้า และงานของลูกค้าให้เสร็จทันเวลา ถือเป็นสังคมของการเกื้อกูลที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันในอนาคต และเป็นการปิดช่องว่างข้อจำกัดของการเป็นบริษัทขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีการขยายโอกาสไปที่ประเทศลาว และประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับพันธมิตรใหม่ของโครงการในปีนี้ได้แก่ 1.บริษัท ซัมซุง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ได้สนับสนุนเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโซลูชั่นร่วมกัน พร้อมเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจกับลูกค้าของซัมซุงทั่วเอเชีย และจะมี Device Lab ไว้รองรับการทดสอบแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเน้นเทคโนโลยี Knox (ความปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน) ในการพัฒนา 2.Microsoft BizSpark ซึ่งจะมีชุดเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้นักพัฒนาได้ใช้อย่างเต็มที่ 3.mai จะเชื่อมต่อนักลงทุนจากตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเปิดโอกาสให้แหล่งทุนได้พบกับ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีตัวจริง และ 4.กลไกอื่น ๆ ของ สวทช. เช่น โครงการ Startup Voucher ให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ที่สนับสนุนทุนค่าจ้างที่ปรึกษาพัฒนากระบวนการผลิต สูงถึงโครงการละ 8 แสนบาท เป็นต้น

กลุ่มผู้ประกอบการ Success ปี 2017 ที่น่าสนใจในปีนี้ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่ได้รางวัลจากเวทีต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และได้รับการจับตามองจากนักลงทุนจากหลายแหล่งทุน อาทิ บริษัท เอ็กซ์ซี ผู้พัฒนาระบบ Interactive ชั้นนำ และมีระบบบริหารจัดการห้องประชุมแบบ smart meeting room ในองค์กรชั้นนำทำให้สามารถจัดการธุรกิจได้อย่างคล่องตัว, บริษัท คิวคิว (QueQ) ผู้นำในการให้บริการจองคิวในร้านต่าง ๆ ที่กำลังเนื้อหอมในวงการ Startup และที่กำลังมาแรงมากคือ กลุ่มผู้ประกอบการในวงการ HealthCare ซึ่งในปีนี้มีนวัตกรรมที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและการบริการสาธารณสุขของไทย ได้อย่างน่าสนใจ อาทิ Health@Home ผู้ให้พัฒนาแพลทฟอร์มและบริการดูแลรักษาผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่อยู่บ้าน, SmartHealthCare ผู้ให้บริการระบบบันทึกสุขภาพส่วนบุคคล, ArinCare ผู้ให้บริการระบบบริหารร้านขายยา, VetSide ผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการคลินิคสัตวแพทย์และดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยง, ZeekDoc ระบบค้นหาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญที่ตรงกับโรคได้อย่างสะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่พัฒนานวัตกรรมใน Sector อื่นๆ เช่น IndustryTech  LogisticsTech TravelTech อีกด้วย