เนื้อหาวันที่ : 2017-03-31 11:23:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1853 views

สานพลังประชารัฐ ปลุกป่าในเมืองสู่ไทยแลนด์ 4.0

สกว.จับมือนิเทศนิด้า และวารสารฯ มธ. สานพลังประชารัฐเปิดเวที “ป่าในเมืองกับความยั่งยืน สู่ไทยแลนด์ 4.0” และนิทรรศการภาพถ่าย “ป่า-เมือง-คน” หวังกระตุ้นให้สาธารณะเห็นความสำคัญของป่าในสังคมเมือง ขณะที่ กทม.ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 9 ตร.ม.ต่อคนในอีกสิบปี

30 มีนาคม 2560: ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการเสวนา ป่าในเมือง กับ ความยั่งยืน สู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจัดโดย สกว. ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะวารสารศาสตร์สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการสื่อสารสังคมภายใต้ผลงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมของ สกว. เรื่อง ความเต็มใจจ่าย เพื่อพื้นที่ป่าไม้ของชาวกรุงเทพฯ

ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็นงานวิจัยโครงการวิจัยครั้งนี้นับเป็นนวัตกรรมการจัดการความรู้ที่สามารถบูรณาการความรู้จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยของ สกว. ทำให้สาธารณะตระหนักถึงความสำคัญของป่าในสังคมเมือง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามผลการวิจัยพบว่าคนเมืองมีความต้องการพื้นที่ป่าในเมืองสูงแต่ยังไม่เข้าใจแนวคิดป่าในเมือง จึงต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจภายใต้แนวคิด ป่าในเมือง ผ่านองค์กรต้นแบบที่มีระบบการจัดการป่าในเมืองที่เป็นรูปธรรม การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ได้สานพลังนโยบายประชารัฐ ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาควิชาการจุดประเด็นป่าในเมืองในหลากมิติเพื่อสร้างประเทศไทยให้สู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ป่า-เมือง-คน โดยองค์กรเครือข่ายที่ดำเนินกิจกรรมร่วมกับโครงการ ได้แก่ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กลุ่ม BigTrees Project ประชาคมห้วยขวาง ธนาคารต้นไม้ มหาวิทยาลัยมหิดล เสถียรธรรมสถาน รวมทั้งกลุ่มช่างภาพอิสระภาคประชาชน ได้นำภาพถ่ายที่สะท้อนมุมมองแนวคิดของป่าในเมืองที่ให้ความสำคัญของระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่คนในสังคมมาจัดแสดงอันจะสะท้อนมุมมองต่อความสำคัญของ ป่า เมือง และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมร่วมกันทั้งธรรมชาติและความเจริญที่ยั่งยืน

รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวเสริมว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนมุมมองอันจะก่อให้เกิดการผลักดันกลไกการจัดการด้านป่าในเมือง ป่าในเมืองจึงเป็นการจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในสังคมเมืองยุคปัจจุบันที่ทำได้จริง วิถีชีวิตที่เมืองกับป่าต้องอยู่ร่วมกัน หากเราสื่อสารความรู้ความเข้าใจให้กับคนเมืองได้ เชื่อว่าประเทศไทยของเราจะยั่งยืนเพราะทุกภาคส่วนของสังคมล้วนเชื่อมโยงกัน

ดร.วิจารณ์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างการปาฐกหัวข้อ “ป่าในเมือง กับ ความยั่งยืน สู่ไทยแลนด์ 4.0” ว่ากระทรวงได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก” มาปฏิบัติ ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศถือว่าป่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาพื้นที่ให้น้ำและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงบรรจุเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและจัดการของเสียให้ถูกต้อง ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ 102.4 ล้านไร่ ในอีก 20 ปีขางหน้าตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 128 ล้านไร่ ดังนั้นคนไทยจะต้องร่วมใจกัน ซึ่งป่าในเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมพื้นที่สีเขียว กระทรวงจึงมุ่งส่งเสริมให้มีการปลูกป่า โดยเฉพาะป่าเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น เช่นเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนกระทรวงที่ให้ความสำคัญกับป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ เติมส่วนที่ขาดให้เต็มโดยทวงพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ 12 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ 3,700 ไร่ ซึ่งตามมาตรฐาน 1 คน ควรมีพื้นที่สีเขียว 16 ตารางเมตร แต่กรุงเทพมหานครมีเพียง 6.1 ตารางเมตร และนับวันจะหายไป เราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และมองไปในอนาคต เป้าหมายเราคือ 1 หมู่บ้านจะต้องมีต้นไม้ 1,000 ต้น ทุกคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรม เมืองใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและเมืองอื่น ๆ ต้องปรับเปลี่ยนให้มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากขึ้น ให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากเพื่ออนุรักษ์ไว้โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวมากเป็นอันดับ 1 (66 ตารางเมตรต่อคน) เราจึงต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะรักษาสิ่งที่มีอยู่และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายไป บทสรุปป่าในเมืองของไทยจะเป็นอย่างไรในเมื่อพื้นที่ป่าของเราลดลง มีพื้นที่สีเขียวในเมืองและระหว่างเมืองได้อย่างไร รวมถึงความพยายามขับเคลื่อนให้ทุกคนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าทรัพยากรต้นน้ำในพื้นที่ห่างไกล เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน

ด้าน นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ระบุว่าปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ มีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากทำให้พื้นที่สีเขียวลดลง ความยากในการหาพื้นที่ และวินัยของคน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมีนโยบายคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งรวมถึงความสมดุลของคนที่จะได้รับจากระบบนิเวศ โดยมีนโยบายปลูกป่าในใจคน เช่น ปลูกป่าชายเลน 3,000 ไร่ในเวลา 10 ปี ปลูกต้นรวงผึ้งเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 จำนวน 110 ต้น เพื่อเป็นต้นไม้ประจำพระองค์ รวมถึงภารกิจในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร 35 แห่ง รวม 3,584 ไร่ โดยในปีนี้จะเพิ่มอีก 950 ไร่ เป้าหมายในอนาคตจะต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคนภายใน 10 ปี ทั้งนี้ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่าในเมืองมากขึ้น และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมพื้นที่สีเขียว เช่น กิจกรรมดูนกในสวนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น สวนรถไฟ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ สวนหลวง ร.9 สวนเบญจกิติ เพื่อทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำคิวอาร์โค้ดเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวและความหมายของต้นไม้แต่ละชนิด การจัดค่ายเยาวชนเพื่อให้ความรู้และปลูกฝังการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ให้ประชาชนมีความรู้และสามารถดูแล ปลูกต้นไม้ได้อย่างถูกต้อง