เนื้อหาวันที่ : 2017-03-24 18:04:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1481 views

สกว. ผนึกกำลัง สวทน. ยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร

สกว.พร้อมผนึกกำลัง สวทน. สร้างความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ในเวที “Talent Mobility for Food Innovation 2017” หวังเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน Talent Mobility for Food Innovation 2017 ซึ่งจัดโดย สวทน. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2560 ณ ศุนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในมิติใหม่ ที่จะขยายฐานการใช้ประโยชน์จากบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของประเทศ และเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรอย่างใกล้ชิด

ดร.อรรชากา กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษ “อุตสาหกรรม 4.0” ว่าไทยมีวัตถุดิบอาหารมากมายและหลากหลาย ทั้งข้าว อ้อย พืชผักผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง แต่ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบเหล่านี้ รวมถึงของเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งนับเป็นโจทย์สำคัญและนำรายได้มาสู่ภาคการเกษตร นอกจากนี้ยังต้องเชื่อมโยงกับ Functional Food เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ อาหารสำหรับคนหนุ่มสาวที่ออกกำลังกาย อีกทั้งเชื่อมโยงกับโลจิสติกส์ ความปลอดภัยด้านอาหาร ให้มีสารตกค้างน้อยที่สุดและได้รับมาตรฐาน อย. ฮาลาล เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐและเอกชนที่จะต้องช่วยกันทำงานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้มีกิจกรรมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้และเป็นที่ยอมรับ

ในโอกาสนี้ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือสนับสนุนทุนโครงการวิจัยระหว่าง สวทน. กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อเป็นจุดเริ่มสำคัญในการส่งเสริมบุคลากรจากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษา ไปช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคผลิตและบริการอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงมีนักวิจัยระดับปริญญาโทและเอกไปทำวิจัยกับภาคเอกชนมากขึ้น ขณะที่ผุ้ประกอบการเองก็ต้องมีความตื่นตัว และมีโจทย์ให้กับนักวิจัย จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศให้เติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ด้าน ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รักษาการรองเลขาธิการ สวทน. และซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเมืองนวัตกรรมอาหาร คือ นักวิจัย และกลไกสนับสนุนให้นักวิจัยในภาครัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ที่เน้นการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทอาหารในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ และบริการครบวงจร ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจค้นหานักวิจัยไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอาหาร และนักวิจัยที่ต้องการนำความรู้ด้านการวิจัยไปพัฒนาให้เป็นรูปธรรม จะได้รับการจุดประกายความคิดภายในงานนี้ นอกจากนี้ยังได้จัดทำเว็บไซต์ FI-Databank เพื่อเพิ่มโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะเชื่อมโยงกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม การวิจัยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จากผลงานวิจัย ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ"

ขณะที่ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาของประเทศและการยกระดับความสามารถการแข่งในภาคเอกชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่าง สวทน. และ สกว. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ โดยให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เป็นการลงทุนเองภายในประเทศ และบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย” เชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนให้มีความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ

“ในส่วนของการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของประเทศนั้น สวทน. จะขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายของโครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชนและโครงการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ขณะที่ สกว. จะขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายของโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และโครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะร่วมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล”