เนื้อหาวันที่ : 2007-09-13 09:10:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2988 views

กรมธุรกิจพลังงาน ย้ำจุดยืนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน

กรมธุรกิจพลังงาน แจงขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน คลังน้ำมันและคลังก๊าซ ผู้ประกอบการต้องได้รับอนุญาตจากจังหวัดก่อน กรมธุรกิจดูแลเฉพาะด้านความปลอดภัย

กรมธุรกิจพลังงาน ยัน จุดยืนขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน คลังน้ำมันและคลังก๊าซ ประกอบการต้องได้รับอนุญาตจากจังหวัดก่อน ส่วนกรมธุรกิจ ฯ จะดูแลเฉพาะด้านความปลอดภัยเท่านั้น

 .

นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงกรณี การขอใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน โดยเฉพาะคลังน้ำมัน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ของผู้ประกอบการ ว่า ขั้นตอนการขอใบอนุญาต จังหวัดจะเป็นหน่วยงานหลัก โดยเริ่มต้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ทำการก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยอาคาร ส่วนกรมธุรกิจพลังงานจะเป็นผู้พิจารณาเฉพาะในส่วนของถังและอุปกรณ์เกี่ยวกับก๊าซแอลพีจีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคลังเท่านั้น

 .
สำหรับขั้นตอนการขอใบอนุญาตของผู้ประกอบการแบ่งออกเป็น 2ส่วน 5 ขั้นตอน ในช่วงก่อนการก่อสร้างมี3ขั้นตอนและหลังการก่อสร้างเสร็จอีก 2 ขั้นตอนได้แก่  
.
ช่วงก่อนการก่อสร้าง
  • ขั้นตอนที่ 1.การขออนุญาตก่อสร้างต่อหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งใบอนุญาตที่จะได้รับคือใบอ.1 เป็นการอนุญาตแผนผังของตัวคลังทั้งคลัง เช่นโรงเรือน อาคาร รั้ว
  • ขั้นตอนที่ 2.การขอความเห็นชอบในรูปแบบแผนผังของถังเก็บก๊าซและอุปกรณ์ให้มีความปลอดภัยต่อกรมธุรกิจพลังงาน ในส่วนนี้จะเป็นการเห็นชอบเพียงรูปแบบถังก๊าซและอุปกรณ์เท่านั้น
  • ขั้นตอนที่ 3.การขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่ออุตสาหกรรมซึ่งเป็นการขออนุญาตสำหรับเครื่องจักร มอเตอร์ปั๊มและอุปกรณ์โรงงาน
.

ช่วงที่ก่อสร้างคลังเสร็จ

  • ขั้นตอนที่ 1.การขอใบอนุญาตใช้คลัง(อ.6)จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ทำให้มีสิทธ์ใช้งานอาคาร และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด 
  • ขั้นตอนที่2 .การขออนุญาตประกอบกิจการบรรจุก๊าซต่อกรมธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ทำให้มีสิทธิ์ใช้งานถังเก็บก๊าซและอุปกรณ์
 .

นอกจากนี้ จากกระแสการต่อต้าน ของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในขั้นตอนการขอใบอนุญาต หากทางจังหวัดไม่ต้องการให้ประชาชนต่อต้านโครงการฯ ควรมีการกำกับดูแลในส่วนการออกใบอนุญาตของท้องถิ่น ในขั้นตอนแรกให้ดีก่อน เพราะหากเป็นไปตามการสำรวจที่ประชาชนไม่ต้องการให้เกิดการก่อสร้างคลังก๊าซฯจริง ก็ไม่ควรมีการออกใบอนุญาตตั้งแต่ต้น และหากผู้ประกอบการ ไม่ได้รับใบอนุญาตจากจังหวัดแล้ว ก็จะไม่มีสิทธิมาขอใบอนุญาตในขั้นตอนอื่น ๆ แน่นอน

 .
ในกรณีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการคลังก๊าซหุงต้มของบริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มีลำดับขั้นตอนดังนี้
  • ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างคลังก๊าซหุงต้ม(อ.1) บริเวณ ต.บางจะเกร็ง จ. สมุทรสงคราม จาก อบต. บางจะเกร็ง เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2548 (เอกสารแนบ1) - กรมธุรกิจพลังงานเห็นชอบแผนผังของถังเก็บก๊าซและอุปกรณ์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 (เอกสารแนบ2)
  • ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากอุตสาหกรรมจังหวัดลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 (เอกสารแนบ3)
  • ได้รับใบรับรองการก่อสร้างอาคาร(อ.6) จากอบต.เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2550(เอกสารแนบ4)
  • ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลวจากกรมธุรกิจพลังงาน( ป.ล,2 ) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2550 (เอกสารแนบ5)
 .

ตามที่มีข่าวปรากฏว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามแจ้งว่าไม่ทราบเรื่องการขอใบอนุญาตของบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่กรมธุรกิจพลังงานออกให้และไม่ทราบเรื่องนักศึกษาท้องถิ่นถามความเห็นประชาชนซึ่งปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างคลังก๊าซนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามไม่เห็นด้วยอยู่ๆไปแอบทำแล้วมาบอกว่าจังหวัดเห็นด้วย จึงได้ทำหนังสือคัดค้านมาที่กรมธุรกิจพลังงานนั้น กรมธุรกิจพลังงานขอชี้แจงว่าขั้นตอนการประกอบกิจการมีจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักซึ่งจะเห็นว่าใบอนุญาตเริ่มต้นจากอบต.บางจะเกร็งอนุญาตให้ปิคนิคก่อสร้างคลังก๊าซได้

 .

จนกระทั่งก่อสร้างเสร็จทางจังหวัดโดยอบต.ยังออกใบอนุญาตให้ใช้คลัง(อ.6) ส่วนกรมธุรกิจพลังงานมาออกใบอนุญาตต่อหลังเป็นใบสุดท้ายให้ใช้ถังเก็บก๊าซและอุปกรณ์เมื่อเป็นดังนี้จึงเป็นไปไม่ได้ว่าคลังก๊าซเกิดขึ้นโดยที่ทางจังหวัดไม่ทราบเรื่อง สำหรับแนวทางปฏิบัติของกรมธุรกิจพลังงานนั้นการออกใบอนุญาตจะออกตามหลังจังหวัดถ้าจังหวัดไม่ออกใบอ.6 กรมจะไม่พิจารณาออกใบอนุญาตให้กับปิคนิค

 .

ในประเด็นที่ประชาชนต่อต้านไม่ให้มีการสร้างคลังก๊าซเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2546-2547 ตามสรุปบันทึกความคิดเห็นประชาชนของจังหวัดในข้อ5.1(ตามเอกสารแนบ6) แต่จังหวัดโดยอบต.บางจะเกร็งก็ยังมีการออกใบอนุญาตให้ก่อสร้าง(อ.1)เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2548 ซึ่งทางจังหวัดรู้อยู่แล้วว่ามีการต่อต้านแต่ยังมีการออกใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตของจังหวัดนี้เองทำให้มีการออกใบอนุญาตของหน่วยงานอื่นๆตามมาในส่วนประกอบต่างๆของคลัง เพราฉะนั้นทางจังหวัดไม่ควรหยิบยกเอาการอนุญาตของกรมธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นการอนุญาตเป็นขั้นสุดท้ายมากล่าวอ้างว่าเป็นเหตุให้เกิดคลังก๊าซนี้ขึ้นเพราะการออกใบอนุญาตของกรมเป็นผลสืบเนื่องจากการอนุมัติของจังหวัดก่อน

 .

ส่วนประเด็นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวถึงการสำรวจความคิดเห็นโดยนักศึกษาท้องถิ่นและปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วยแต่ทางจังหวัดกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไปแอบทำแล้วมาบอกว่าทางจังหวัดเห็นด้วยกรมธุรกิจพลังงานขอชี้แจงว่าทางจังหวัดได้มีหนังสือแจ้งผลการสำรวจดังกล่าวมาให้กรมธุรกิจพลังงานทราบ(เอกสารแนบ7)

 .

ดังนั้นในการตอบหนังสือของจังหวัดกรมธุรกิจพลังงานจึงได้มีการกล่าวอ้างถึงผลสำรวจดังกล่าวในลักษณะของการท้าวความถึงหนังสือของจังหวัดเท่านั้น(เอกสารแนบ8)และขอยืนยันว่ากรมธุรกิจพลังงานไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการสอบถามความคิดเห็นดังกล่าวและในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับบริษัทปิคนิคก็ไม่ได้เอาผลสำรวจดังกล่าวมาพิจารณาแต่อย่างใด การพิจารณาออกใบอนุญาตใช้หลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น